News

ค่าขนส่ง 2

เลขที่หนังสือ : กค 0706/พ./5896
     
วันที่ : 13 กรกฎาคม 2549
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการขนส่งสินค้า

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81(1)(ณ) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
 บริษัทฯ ประกอบกิจการรับขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วยรถยนต์ โดยบริษัทฯ ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งและไม่มีรถยนต์ขนส่งเป็นของตนเอง แต่จะใช้วิธีว่าจ้างหรือเช่ารถยนต์ของผู้อื่นมาเพื่อใช้ขนส่ง บริษัทฯ จึงขอทราบเกี่ยวกับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
   
 (1) กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างรถยนต์ของบุคคลอื่นเพื่อขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าไปส่งตามสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศ รายรับจากการขนส่งดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
     
 (2)  กรณีบริษัทฯ รับจ้างขนส่งสินค้าไปส่งยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียโดยในการขนส่งช่วงระหว่างโรงงานของลูกค้าไปยังด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย และจากด่านชายแดนดังกล่าวไปยังจุดหมายปลายทางที่เมืองปีนัง บริษัทฯ ได้ว่าจ้างรถยนต์ของบุคคลอื่นให้ทำการขนส่งทั้งสองทอด การขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังชายแดน กรณีดังกล่าวถือเป็นการขนส่งในราชอาณาจักรหรือไม่ และ การขนส่งสินค้าจากชายแดนไปยังเมืองปีนัง ถือเป็นการขนส่งระหว่างประเทศทางรถยนต์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
   
 (3) 

กรณีตาม 2. หากลูกค้าได้ให้บริษัทฯ ดำเนินพิธีการศุลกากรนำสินค้าผ่านแดนการรับจัดการพิธีการศุลกากรดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการหรือไม่ และหากฐานภาษีของการให้บริการดังกล่าวมีมูลค่าไม่ถึง 1,800,000 บาท ต่อปีจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :
1.

กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้รับจ้างขนส่งสินค้าจากสถานที่แห่งหนึ่งไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าของตนเองหรือได้ว่าจ้างรถยนต์บรรทุกสินค้าของบุคคลอื่นๆ ให้ทำการขนส่ง การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร

     
2.  กรณีตาม 2. บริษัทฯ รับจ้างขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าในประเทศไทยไปส่งยังเมืองปีนังประเทศมาเลเซียโดยทางรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ด) แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ รับจ้างขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าในประเทศไทยไปส่งยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียพร้อมกับดำเนินพิธีการศุลกากรนำสินค้าผ่านแดนให้กับลูกค้าด้วย การดำเนินพิธีการศุลกากรดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเนื่องจากบริษัทฯ ได้ให้บริการขนส่งสินค้าโดยมีการให้บริการอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขนส่ง การให้บริการขนส่งรายใดที่บริษัทฯ ได้จัดให้มีบริการดำเนินพิธีการศุลกากรรวมอยู่ด้วยจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร หากรายรับจากการให้บริการขนส่งทุกรายที่บริษัทฯ ได้จัดให้มีการดำเนินพิธีการศุลกากรรวมอยู่ด้วยมีมูลค่าเกิน 1,800,000 บาทต่อปี บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของการให้บริการขนส่งมารวมกับค่าบริการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อรวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการ ที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 และมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

70/34793