News

แยกยื่นเงินได้ภรรยา

คลังใจดี จ่อชงครม.เมษายนนี้ แยกยื่นภาษีคู่สมรส พ่วงด้วยภาษีไวน์ "ทนุศักดิ์" ย้ำผลประโยชน์วิน-วิน รัฐขยายฐานการจัดเก็บรายได้เพิ่ม ประชาชนจ่ายภาษีลดลง-กินไวน์ถูก พร้อมเตรียมเคาะภาษีมือถือ อัตราไม่เกิน 3% เชื่อฟันรายได้เพิ่มกว่าหมื่นล้านบาท

 

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีที่จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ได้เตรียมเสนอขอความเห็นชอบ แผนปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีต่อครม. กรณีแยกยื่นภาษีสามี-ภรรยาของกรมสรรพากร และแผนการจัดเก็บภาษีไวน์ของกรมสรรพสามิต เข้าที่ประชุมครม.เดือนเมษายน 2555 นี้

 

"เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสามีและภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งคู่ต่างมีเงินได้เป็นของตนเอง วิธีคิดในเรื่องนี้ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม"

 

สำหรับข้อดีของการปรับปรุงโครงสร้างการแยกภาษีสามี-ภรรยา จะทำให้ฐานภาษีของกรมสรรพากรกว้างขึ้น เนื่องจากเดิมทีภรรยาจะยื่นภาษีเงินได้เฉพาะเงินเดือน ส่วนรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนให้รวมกับสามี ถือเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย เนื่องจากปัจจุบันฐานะทางสังคม และรายได้ของผู้หญิงหรือผู้เป็นภรรยาทัดเทียมกับผู้ชายแล้ว โดยเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(2) ซึ่งเป็นเงินได้จากแรงงานที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่มีนายจ้าง เช่น ค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ซึ่งตามกฎหมาย ฝ่ายหญิงจะต้องนำไปให้ฝ่ายชายเสียภาษี ซึ่งเมื่อรายได้องสามี-ภรรยารวมกัน ทำให้ฐานการเสียภาษีค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ จดทะเบียนหรือไม่ก็จดทะเบียนสมรสแล้วจดทะเบียนหย่า แต่ยังใช้ชีวิตร่วมกัน

 

นอกจากนี้การแยกยื่นรายการภาษีคู่สมรส จะทำให้สรรพากรสามารถขยายฐานภาษีได้กว้างขึ้น ขณะที่คู่สมรสก็เสียภาษีได้ถูกลง เนื่องจากการแยกคำนวณภาษีจากฐานที่ต่ำลง อัตราภาษีก็พลอยต่ำไปด้วย โดยปัจจุบันอัตราการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 5-3% กรอบใหม่เพดานสูงสุดอยู่ที่ 35% แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเสียภาษีในอัตราต่ำสุดที่ 5%"

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าสามี-ภรรยา มีการยื่นแบบเสียภาษีร่วมกันเพียง 20% ของผู้เสียภาษีทั้งหมด ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ และหากกฎหมายการแยกกันยื่นภาษีมีผลบังคับใช้ จะเป็นการขยายฐานภาษีให้กับกรมสรรพากรได้มากขึ้น เนื่องจากจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และแม้ระยะแรกจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี จากฐานรายได้ในการคำนวณที่ลดต่ำลง แต่อนาครเชื่อว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า

 

ส่วนภาษีไวน์จะมีการเปลี่ยนมาเก็บภาษีตามปริมาณ โดยเริ่มต้นที่ลิตรละ 200-300 บาท เช่น ไวน์นำเข้า 1 ลิตร ไม่ว่าจะราคาขวดละ 500 บาท หรือ 10,000 บาท จะเก็บภาษีเพิ่มอัตราเท่ากันอีก 300 บาทต่อขวด โดยประโยชน์ทางอ้อมคือ ประชาชนได้บริโภคไวน์คุณภาพ ราคาถูกลง ขณะที่ทางตรงจะช่วยลดปริมาณการลักลอบนำเข้าไวน์ ที่ตั้งเป็นขบวนการสนามบินและท่าเรือ ทำห้กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้มากถึง 4,000-5,000 บาท ต่อปี จากเดิม 1,000 บาทต่อปี หรือ 7.9 ล้านลิตรต่อปี

 

นายทนุศักดิ์ ยังกล่าวถึงการเก็บภาษีธุรกิจโทรคมนาคมว่า จะมีการเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการโทรศัพท์มือถือ คาดว่าไม่น่าจะเกินอัตรา 3% จากเดิม 10% รวมถึงจะขยายการเก็บไปในช่องทางบริการอื่นๆ ผ่านมือถือที่มีปริมาณผู้ใช้จำนวนมากด้วย เช่น บริการดาต้าเซอร์วิส, โซเชียลมีเดีย, เอสเอ็มเอส เป็นต้น โดยผู้ประกอบการยังต้องสามารถจัดโปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้าได้ ซึ่งต้องขอดูรายงานการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิต ที่จะเสนอกลับมาทั้งหมด ในวันพุธหน้าเพื่อพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณการใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งระบบประมาณ 100 ล้านเครื่องหรือ 2-3 เครื่องต่อคน ซึ่งหากสามารถขยับอัตราภาษีเพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีน่าจะขยับขึ้นตามไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาท จากเดิมที่สามารถจัดเก็บภาษีธุรกิจโทรคมนาคมได้มากถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี