News

สรรพากรสรุป วิธีตรวจใบกำกับภาษีปลอม

คู่มือแนวทางการตรวจใบกำกับภาษีปลอม

 

   

ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษีนับว่ามีความสำคัญอย่างมากที่ผู้เสียภาษีนำมาเป็นหลักฐานในการเครดิตหรือขอคืนภาษี หรือเปรียบเสมือนเป็นหลักฐานทางการเงิน ดังพบถ้าหากว่าใบกำกับภาษีไม่ถูกต้องแล้ว ผู้เสียภาษีนำมาขอเครดิตหรือขอคืนภาษีแล้ว จะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ในการเก็บภาษีเข้ารัฐ ใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องมีหลายกรณี แต่ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากก็คือ ใบกำกับภาษีปลอม เพราะว่าเป็นการจงใจเจตนา ที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีและเป็นความผิดร้ายแรง และในปัจจุบันก็ยังมีผู้เสียภาษีบางกลุ่มที่ยังใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจต้องติดตามหรือตรวจให้พบ หรือป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ โดยหาวิธีการตรวจเพื่อเป็นแนวทางต่อไป

 

วิธีดำเนินการตรวจสอบใบกำกับภาษีปลอม

   
1. ดูปัจจัยบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะใช้ใบกำกับภาษีปลอม โดยศึกษาพฤติกรรมของรายที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม โดยดูปัจจัยบ่งชี้
     
  1.1 ดูลักษณะกิจการ ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ลักษณะกิจการจะไม่มีความน่าเชื่อถือ จะเป็นกิจการครอบครัว หรือบริหารแบบครอบครัว
     
  1.2 ประเภทกิจการ เป็นกิจการที่จะไม่มีใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีมาเป็นค่าใช้จ่ายหรือกำไรในการประกอบกิจการสูง ส่วนมากจะเป็นกิจการให้บริการ เช่นธุรกิจรับเหมา รับจ้าง ให้บริการอู่ซ่อมรถยนต์ ขายวัสดุก่อสร้าง ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
     
  1.3 การจ่ายเงินค่าสินค้า ค่าบริการ ถ้ามีการจ่ายเป็นเงินสดหรือเช็คเงินสดแต่ละครั้งเกิน 50,000 บาท โอกาสที่จะใช้ใบกำกับภาษีปลอมมีมาก เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินปกติแล้วจะไม่มีการซื้อขายเป็นเงินสด จะชำระเงินเป็นเช็คเข้าบัญชี หรือโอนเงินทางธนาคาร
     
  1.4 ดูสัดส่วนการจ่ายเงินของธุรกิจหากมีการจ่ายเป็นเงินสดในสัดส่วน ที่เกิน 20% ของการจ่ายเงินทั้งหมด ก็มีโอกาสเสี่ยงในการใช้ใบกำกับภาษีปลอม
     
  1.5 ดูระยะทางที่ซื้อสินค้า หรือ บริการ ว่าห่างไกลกับสถานประกอบการหากสินค้าห่างไกลมาก มีเหตุสงสัยเพียงพอว่าเหตุใดจะซื้อสินค้าที่ห่างไกลจากสถานประกอบการ เช่น สถานประกอบการอยู่ชลบุรี ไปซื้อวัสดุที่ร้อยเอ็ด
     
  1.6 ดูค่าเฉลี่ย P/T โดยปกติกิจการให้บริการค่า P/T ไม่ควรเกิน 70% ดังนั้นถ้า ค่าP/T สูงกว่าปกติหรือสูงมากความเป็นไปได้ว่ามีการซื้อใบกำกับภาษีหรือหลบยอดขาย
     
  1.7 ผลการประกอบกิจการ การประกอบธุรกิจโดยปกติทั่วไป การกำหนดราคาสินค้า ราคาค่าบริการ จะถูกกำหนดราคาได้ต้องคำนวณต้นทุนสินค้า ค่าใช้จ่าย การขายบริการ กำไรขั้นต้นควรจะได้หรือกำไรสูงที่คุ้มการประกอบกิจการ ดังนั้นถ้ากิจการใดประกอบกิจการมีกำไรต่ำไม่เหมาะสมกับการลงทุน หรือ ประกอบกิจการแล้วขาดทุนติดต่อกันก็ยังประกอบกิจการอยู่ส่อให้เห็นความผิดปกติ
     
  1.8 ลักษณะสถานประกอบการ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาดู ถ้าสถานประกอบกิจการเป็นบ้านเช่าอยู่อาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ก็เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าตัวตนของผู้ประกอบการไม่ได้อยู่จริง หรือประกอบกิจการจริง
     
  1.9 ช่วงระยะเวลาที่ซื้อสินค้าสูง ปกติการซื้อสินค้า ซื้อวัตถุดิบในการประกอบกิจการ ก็ควรมีความสัมพันธ์กับการผลิต เช่น ผลิตมากก็สั่งซื้อวัตถุดิบมาก ผลิตสินค้าน้อยกำลังซื้อวัตถุดิบน้อย แต่ถ้ามียอดซื้อสูงโดยไม่มีเหตุผลสื่อให้เห็นความผิดปกติ เช่นช่วงปลายปีมียอดซื้อสูง เป็นเหตุให้เห็นว่าผู้ประกอบการพอจะมีรายจ่ายไม่เพียงพอในการคำนวณภาษี จึงมีการซื้อบิล หรือใบกำกับภาษี
     
  1.10 ดูหลักฐานการซื้อการจ้าง โดยดูหลักฐานทางการค้าการซื้อการขาย จะมีใบเสนอราคาสั่งซื้อ สั่งจ้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดการเสนอราคา และผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้ซื้อจะนำใบเสนอราคามาเปรียบเทียบราคา หรือรายละเอียดของเงื่อนไขที่จะได้มากที่สุด ถ้า ไม่มีใบเสนอราคา ข้อตกลงการซื้อขาย จะมีความผิดปกติพอที่จะเชื่อว่าไม่ใช่การซื้อการจ้างจริง
     
  1.11 จำนวนใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ขาย ผู้ให้บริการต่อเดือน ถ้ามีการออกใบกำกับภาษีให้รายเดิมในแต่ละเดือนหลายใบหรือหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคย และความผิดปกติ ของการซื้อขาย ถ้าหากมีความถี่ในการซื้อขายมากเกินไป คาดว่าอาจจะไม่มีการซื้อขายหรือให้บริการจริง
     
 

ตัวบ่งชี้หรือปัจจัย ครบทั้ง 11 ข้อ ที่ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นตัวบ่งชี้ผู้ประกอบการที่ส่อใช้ใบกำกับภาษีปลอม นำปัจจัยบ่งชี้ดังกล่าวตัวใดตัวหนึ่ง หรือ มากกว่าหนึ่งตัว มาคัดเลือกรายสุ่มตรวจ ถ้าหากผู้ประกอบการเข้าข่ายบ่งชี้ โดยดำเนินการตรวจดังนี้

 

1. เชิญพบผู้ประกอบการที่มีตัวบ่งชี้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม

 

2. ผู้เสียภาษีมาพบ ดำเนินการประเมินความเสี่ยง โดยใช้แบบประเมินความเสี่ยงการใช้ใบกำกับภาษีปลอม

 

แบบประเมินความเสี่ยงการใช้ใบกำกับภาษีปลอม เป็นแบบประเมินที่มีปัจจัยบ่งชี้ 11ข้อ ที่เห็นว่าเป็นตัวปัจจัยอย่างน้อย 2ข้อ มีผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมต้องมี ดังนั้นการประเมินใช้วิธีสอบถามจากผู้เสียภาษี และ นำข้อมูลภายในที่มีอยู่มากรอก เช่น ค่า P/Tเป็นต้น เมื่อประเมินแล้วถ้าคะแนนที่ได้ 44 คะแนนขึ้นไป หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงในการใช้ใบกำกับภาษีปลอม

     
2. ตรวจดูใบกำกับภาษีที่เป็นข้อสังเกต
     
  2.1

ประเภทสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง

     
  2.2 สินค้าที่ซื้อไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ
     
  2.3 ซื้อจากสถานที่ที่ไม่น่าเชื่อถือ
     
  2.4 ใบกำกับภาษีมีมูลค่าสูง, ราคาสินค้า หรือ บริการไม่น่าเชื่อถือ, เขียนด้วยลายมือ, จ่ายชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด
     
  2.5 ซื้อจากผู้ประกอบการรายเดียว ในวันที่ติดๆกัน หรือ ใกล้กัน
     
  2.6 ใบกำกับภาษีซื้อที่มีการนำมาใช้ในช่วงปลายเดือน ปลายปี
     
  2.7 ใบกำกับภาษีไม่พิมพ์ “เล่มที่”
     
  2.8 แบบฟอร์มใบกำกับภาษีคล้ายกันหรือลายมือที่เขียนคล้ายกันแต่ชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีแตกต่าง
     
  2.9 วิธีการซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อจาก supplier โดยตรง แต่ซื้อจากเซลล์ หรือ พนักงานขายสินค้า
     
3. ตรวจดูใบกำกับภาษี รายชื่อผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมในระบบ หาข้อเท็จจริงว่าปลอมหรือไม่
     
  3.1 พิจารณาการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ของผู้ออก
     
  3.2 พิจารณาสถานประกอบการผู้ออก
     
  3.3 พิจารณารายงานสินค้าและวัตถุดิบ (มีการบันทึกรับสินค้าหรือไม่)
     
  3.4 พิจารณาหลักฐานใบส่งสินค้า, ใบกำกับสินค้า
     
  3.5

พิจารณาขั้นตอนวิธีการซื้อสินค้า

  • วิธีการติดต่อซื้อสินค้า (ไปซื้อที่ร้าน, มีพนักงานขาย (เซลล์), มีการติดต่อ, โทรศัพท์สั่งซื้อ ฯลฯ)
  • บุคคลที่ติดต่อเป็นใคร
    อ่านทั้งหมด (PDF File)