News

อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าโดยมีค่าตอบแทนสิทธิการเช่า

เลขที่หนังสือ : กค 0706/12294
     
วันที่ : 18 ธันวาคม 2550
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนสิทธิการเช่า

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 40(5) มาตรา 48 มาตรา 56 มาตรา 57 จัตวา มาตรา 60 และมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
นาย ก. ได้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินกับบริษัท บ. จดทะเบียนสิทธิการเช่าเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 อายุสัญญาเช่า 30 ปี เริ่มนับอายุการเช่าวันที่ 12 กันยายน 2551 ตามสัญญานาย ก. จะได้รับค่าตอบแทนสิทธิการเช่าเป็นจำนวนเงิน ทั้งหมด 26,545,000 บาท เริ่มนับอายุการเช่าวันที่ 12 กันยายน 2551 ซึ่งในวันที่ 21 ธันวาคม 2549 นาย ก. ได้รับเป็นเงิน มัดจำค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่ดิน จำนวน 253,000 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ทางระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับปีภาษี 2549 ไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 นาย ก. ได้รับเงินมัดจำค่าตอบแทนสิทธิการเช่าอีก เป็นเงินจำนวน 626,000 บาท โดยได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 ในวันจดทะเบียนสิทธิการเช่าเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 นาย ก. ได้รับเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าอีกจำนวน 25,666,000 บาท รวมได้รับเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าตามสัญญา ทั้งหมด 26,545,000 บาท พร้อมทั้งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 นาย ก. จึงขอทราบว่า
 
1. นาย ก. ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 จำนวน 31 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เป็นปีภาษี 2551 รายได้เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551,ฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 30 เป็นรายได้เฉลี่ยเต็ม 1 ปี และฉบับที่ 31 เป็นรายได้ เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2581 ถึงวันที่ 11 กันยายน 2581 ใช่หรือไม่
   
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 จะนำมาเฉลี่ยเป็นภาษีที่ได้ชำระไว้แล้ว ในแบบ ภ.ง.ด. 93 ทั้ง 31 ฉบับ ได้หรือไม่ อย่างไร (โดยจะไม่ไปยืนขอคืนใน ภ.ง.ด.90)
   
3. การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 สามารถกรอกรายการค่าเบี้ยประกันชีวิตและค่าซื้อหน่วยลงทุนหุ้นระยะยาวและ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้ทั้ง 31 ฉบับหรือไม่ และหักได้เป็นจำนวนเท่าใด
     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่นาย ก. ได้รับตามสัญญาเช่า ซึ่งมีอายุสัญญาเช่า 30 ปี เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตาม มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นาย ก. มีสิทธินำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และยื่นแบบ แสดงรายการพร้อมชำระภาษีเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้น ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528
   
2. กรณีนาย ก. ได้รับเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่า โดยมีอายุสัญญาเช่าเป็นเวลา 30 ปี นาย ก. ต้องนำเงินค่าตอบแทน สิทธิการเช่าที่ได้รับในปี 2549 และปี 2550 มาเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า อีกทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 พร้อมชำระภาษีให้เสร็จสิ้นในปีที่ได้รับค่าตอบแทนสิทธิการเช่า ดังนี้
   
  (1)

เงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่นาย ก. ได้รับในปี 2549 จำนวน 253,000 บาท ให้นำมาเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 พร้อมชำระภาษีให้เสร็จสิ้นในปีที่ได้รับเงินได้นั้น คือปี 2549 เป็น จำนวน 31 ฉบับ โดยเฉลี่ยเงินได้ค่าตอบแทนสิทธิการเช่าตั้งแต่วันที่เริ่มนับอายุการเช่าถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดลงเป็นเงินได้ของปีภาษี 2551 เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เป็นเงินได้ของปี 2552 ถึงปี 2580 เฉลี่ยเต็ม 1 ปี และเป็นเงินได้ของปี 2581 เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2581 ถึงวันที่ 11 กันยายน 2581 กรณีนาย ก. ได้นำค่าตอบแทนสิทธิการเช่าดังกล่าวไปยื่นแบบ ภ.ง.ด 90 แล้ว โดยมิได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 เพื่อนำค่าตอบแทนสิทธิการเช่าดังกล่าวเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไปโดยสำคัญผิดมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยง ภาษี จึงมีเหตุเห็นควรขยายเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ให้แก่นาย ก. โดยขยายเวลาการยื่นแบบดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลให้เสียเงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสีย (ถ้ามี) ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องเสียค่าปรับอาญาแต่อย่างใด

     
    สำหรับค่าตอบแทนสิทธิการเช่าดังกล่าวที่นำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ของปี 2549 นาย ก. มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียไปแล้วสำหรับค่าตอบแทนสิทธิการเช่าดังกล่าวได้
     
  (2) เงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่นาย ก. ได้รับในปี 2550 จำนวน 26,292,000 บาท (626,000 บาท + 25,666,000 บาท) ให้นำมาเฉลี่ยเป็นรายปีตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า โดยเฉลี่ยเงินได้ค่าตอบแทนสิทธิการเช่า ตั้งแต่วันที่เริ่มนับอายุการเช่า ถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดลง เป็นเงินได้ของปีภาษี 2551 เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2551 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2551 เป็นเงินได้ของปี 2552 ถึงปี 2580 เฉลี่ยเต็ม 1 ปี และเป็นเงินได้ของปี 2581 เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2581 ถึงวันที่ 11 กันยายน 2581
     
    การยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อชำระภาษีเงินได้จากค่าเช่าที่รับล่วงหน้าที่เฉลี่ยเป็นรายปีดังกล่าวต้องยื่นจำนวน 31 ฉบับ โดยจะต้องนำเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้รับเมื่อปี 2549 ที่ได้เฉลี่ยค่าเช่าล่วงหน้าเป็นของแต่ละปีเพื่อคำนวณภาษีและชำระภาษี ด้วยแบบ ภ.ง.ด.93 ตาม (1) แล้วมารวมกับค่าเช่าล่วงหน้าที่เฉลี่ยได้ของแต่ละปีดังกล่าวแล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำนวนภาษีเท่าใดให้นำภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.93 (ถ้ามี) ที่ได้ยื่นไว้แล้วของแต่ละปีจากเงิน ค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้รับเมื่อปี 2549 มาหักออกเหลือเท่าใดก็จะเป็นภาษีที่ต้องชำระล่วงหน้าของแต่ละปีโดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินได้ คือปี 2550
     
    ทั้งนี้ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นาย ก. ได้ชำระไปแล้วตามแบบ ภ.ง.ด. 94 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 สำหรับค่าตอบแทนสิทธิการเช่าจำนวน 626,000 บาท ที่ได้รับเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 นาย ก. มีสิทธินำมาเครดิตภาษีใน การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2550
     
3. กรณีการยื่นแบบแสดงรายการในแต่ละปีระหว่างอายุการเช่า นาย ก. ยังคงมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้และชำระภาษีเงินได้ จากค่าเช่าที่ได้รับในปีภาษีนั้น รวมทั้งจากเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่า โดยให้ยื่น รายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ตามมาตรา 56 และมาตรา 57 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร แล้วให้นำภาษีเงินได้ของปีภาษีที่ได้ชำระไว้ล่วงหน้าตามแบบ ภ.ง.ด. 93 รวมทั้งภาษีที่ได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้แล้วในปีภาษีนั้น (ถ้ามี) มาเครดิตออกจากภาษีที่ต้องชำระสำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 60 และมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
   
4. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 5.0 ของค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่ถูกนำส่งไว้แล้ว นาย ก. มีสิทธิขอคืนภาษี เงินได้หัก ณ ที่ จ่ายได้ในคราวเดียวกับการยื่นรายการในปีที่ได้รับค่าตอบแทนสิทธิการเช่า จะนำมาเฉลี่ยตามอายุการเช่าเพื่อนำไปเครดิตในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 แต่ละฉบับไม่ได้
   
5. กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 93 ล่วงหน้า นาย ก. ไม่สามารถกรอกรายการหักค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ล่วงหน้าทั้ง 31 ฉบับได้ แต่อย่างใด
     
เลขตู้ :

70/35520