News

ค่าใช้จ่าย การทำลาย สินค้า

เลขที่หนังสือ : กค 0706/308
     
วันที่ : 15 มกราคม 2551
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการทำลายสินค้า

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี และมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัท ค. ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารธัญพืช โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
   
1. บริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2549 พบว่า มีสินค้าเน่าเสียจำนวนหนึ่ง และไม่สามารถนำออกขายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ จึงพิจารณารายการสินค้าคงเหลือที่ชำรุดเสียหาย
   
2. บริษัทฯ ได้ย้ายสถานประกอบการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 บริษัทฯ ตรวจพบว่ามีสินค้าที่อยู่ในสภาพที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียอีกจำนวนหนึ่งฝ่ายโรงงานจึงเสนอให้มีการทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสีย ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้
   
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่
     
แนววินิจฉัย : กรณีสินค้าเน่าเสียเสื่อมชำรุด เสื่อมคุณภาพ หรือล้าสมัย ที่โดยสภาพไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ หากบริษัทฯ ได้ทำลายสินค้าซึ่งชำรุดบกพร่องนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่ได้ทำลาย และบริษัทฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายสินค้าแล้วให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลายเพื่อใช้เป็น หลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
     
เลขตู้ :

71/35565