News

ต่างชาติ vat รับจ้างผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

เลขที่หนังสือ : กค 0706/พ./11989
     
วันที่ : 3 ธันวาคม 2550
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัทฯ ประกอบกิจการจัดจำหน่ายภาพยนตร์โดยในการประกอบกิจการ บริษัทฯ จะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จาก บริษัทที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ และชำระเงินค่าลิขสิทธิ์ตามสัญญา ซึ่งในการชำระเงินค่าลิขสิทธิ์ บริษัทฯ ได้นำมูลค่าเงินค่าลิขสิทธิ์ ที่ชำระไปในแต่ละครั้งมาถือเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เมื่อบริษัทฯ ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์แล้ว กรมศุลกากร ได้ทำการคำนวณฐานภาษีสำหรับเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมูลค่าของฟิล์มภาพยนตร์มารวมกับมูลค่า ของค่าลิขสิทธิ์ที่บริษัทฯ ได้ชำระไปให้แก่บริษัทในต่างประเทศแล้ว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. การที่กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า โดยนำมูลค่าของฟิล์มภาพยนตร์มารวมกับมูลค่าลิขสิทธิ์ ภาพยนตร์เพื่อคำนวณเป็นฐานภาษี เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินค่าลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ. 36 อีกหรือไม่
   
2. การซื้อลิขสิทธิ์ฟิล์มภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยการชำระเงินไปยังผู้ผลิตภาพยนตร์ในต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
     
แนววินิจฉัย :
1. การที่กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า โดยนำมูลค่าของฟิล์มภาพยนตร์มารวมกับมูลค่าลิขสิทธิ์ ภาพยนตร์เพื่อคำนวณเป็นฐานภาษี ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ไปให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ซึ่งถือว่า เป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้ บริการในราชอาณาจักรมี หน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากรโดยต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ตามมาตรา 83/5 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ต้องชำระ ไปทั้งสองครั้งนี้ บริษัทฯ มีสิทธินำไปใช้หักกับภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
   
2. เงินค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ ตามมาตรา 40 (3) แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าสิทธิในกรณีดังกล่าวไปให้ผู้รับในต่างประเทศ หากปรากฏว่า ผู้รับเงินค่าสิทธินั้นมีฐานะ เป็นบริษัทต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินที่จ่ายใน อัตราร้อยละ 15 ของค่าสิทธิตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้รับเงินได้จะเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศที่ประเทศไทย มีความตกลงว่าด้วยอนุสัญญาภาษีซ้อน ผู้รับเงินได้ก็อาจได้รับสิทธิลดหย่อนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
     
เลขตู้ :

70/35493