News

ต่างชาติ vat รับจ้างพัฒนาโปรแกรมให้ลูกค้าในต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ.2317
     
วันที่ : 14 พฤษภาคม 2551
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีให้บริการรับจ้างพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
 บริษัท ฟ. แจ้งว่า บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยและประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการผลิตยาให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ บริษัทฯ ให้บริการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านการผลิตยาให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าของผู้ว่าจ้าง และจัดทำคู่มือประกอบการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยกรรมสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นของผู้ว่าจ้าง หลังจากที่ลูกค้าของผู้ว่าจ้างทดสอบและดำเนินการใช้โปรแกรมได้จริงแล้ว บริษัทฯ จะประสานงานกับผู้ว่าจ้างเพื่อโอนกรรมสิทธิ์โปรแกรมให้แก่ลูกค้าของผู้ว่าจ้าง ด้วยการส่งรหัสการใช้โปรแกรมผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยให้แก่ลูกค้าของผู้ว่าจ้าง บริษัทฯ ขอทราบว่า รายได้จากการให้บริการส่งออกของบริษัทฯ เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นรายได้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
     
แนววินิจฉัย : การให้บริการ พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านการผลิตยาให้แก่ลูกค้าของผู้ว่าจ้างหรือผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ต้องทำตามข้อกำหนดของลูกค้าของผู้ว่าจ้างหรือของผู้ว่าจ้าง และบริษัทฯ ต้องส่งมอบรหัสการใช้โปรแกรมให้กับลูกค้าของผู้ว่าจ้าง บริษัทฯ ไม่มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ดังนั้น การที่บริษัทฯ รับจ้างพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านการผลิตยาให้แก่ลูกค้าของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ กระทำกิจการอันเป็นสาระสำคัญของการรับจ้างทำของในประเทศไทย จึงถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ หากได้มีการใช้บริการนั้น ในต่างประเทศทั้งหมด และบริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการรับชำระราคาค่าบริการในนามของบริษัทฯ บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) และข้อ 3 ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่ทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
     
เลขตู้ :

71/35849