โจทก์ นายพงษ์ศักดิ์ เครือวัลย์ |
|
จำเลย กรมสรรพากร |
|
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและได้ทำสัญญารับจ้างทำงานในโรงพยาบาลเมืองราช มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลตกลงค่าตอบแทนโดยให้โจทก์เรียกเก็บจากผู้ป่วยเป็นค่ารักษาเป็นราย ๆ ซึ่งแต่ละครั้งต้องไม่เกินอัตราที่ผู้ว่าจ้างกำหนด เมื่อหมดเวลาทำงานโจทก์มีสิทธิประกอบวิชาชีพอิสระได้ ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2537 ว่าเงินได้ของโจทก์ที่ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระจำนวน 458,174 บาท ต้องนำไปรวมกับเงินได้ประเภทค่าตอบแทนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยงดเรียกภาษีเงินเพิ่มและเบี้ยปรับจำนวน 70,805 บาท ให้จำเลยคืนเงินภาษี เงินเพิ่มและเบี้ยปรับที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 70,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจนกว่าจะชำระคืนแก่โจทก์เสร็จสิ้น |
|
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างโจทก์ให้ทำการรักษาผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัว ในโรงพยาบาลเมืองรายเป็นสัญญาจ้าง โดยมีค่าตอบแทนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา โจทก์จึงอยู่ในฐานะลูกจ้าง โจทก์จึงมีนิติสัมพันธ์ทางด้านเงินได้อันเป็นค่าตอบแทน ในการรักษาผู้ป่วยกับผู้ว่าจ้าง มิได้เกี่ยวข้อกับผู้ป่วยแต่อย่างใด เงินได้ที่โจทก์ได้รับในกรณีดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ พึงประเมินประเภทค่าตอบแทนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) มิใช่เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระในการประกอบโรคศิลปะ โดยเปิดคลินิกส่วนตัวตามมาตรา 40(6) การประเมินของพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษายกฟ้อง |
|
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ |
|
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา |
|
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เงินได้ในส่วนที่เป็นเงินค่าตรวจรักษาผู้ป่วยที่โจทก์นำมารักษาในโรงพยาบาลของผู้ว่าจ้าง แม้โจทก์จะได้รับค่าตรวจรักษาทั้งหมด แต่การคิดค่าตรวจรักษามิใช่ว่าโจทก์จะกำหนดเองเพียงใดก็ได้ หากแต่ต้องไม่เกินอัตราที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และโจทก์ได้รับเฉาพะค่าตรวจรักษาเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยต้องชำระ เช่น ค่ายา ค่าพยาบาล ค่าห้อง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ได้รับทั้งสิ้น ทั้งโจทก์รับเงินได้ดังกล่าวจากผู้ว่าจ้างโดยตรง ซึ่งผู้ว่าจ้างได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ป่วยจ้างผู้ว่าจ้าง ตรวจรักษาอาการป่วยเจ็บแล้วผู้ว่าจ้างมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ตรวจรักษาโดยให้ค่าตอนแทน คือค่าตรวจรักษาทั้งหมด ตามสัญญาว่าจ้างแพทย์ที่โจทก์ทำไว้กับผู้ว่าจ้างนั่นเอง ไม่ใช่เป็นกรณีผู้ว่าจ้างตกลงให้โจทก์เปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาทำการปกติ ในโรงพยาบาลและโจทก์ได้รับเงินจากผู้ป่วยเอง โจทก์จึงได้เงินได้ดังกล่าวมาเนื่องจากการรับทำงานให้ผู้ว่าจ้าง หาใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(6) ไม่ จำเลยไม่ต้องคืนเงินภาษีจำนวน 70,805 บาท แก่โจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" |
|
พิพากษายืน |
(ทองหล่อ โฉมงาม - สันติ ทักราล - ทวิวัฒน์ แดงทองดี) |