News

ทั่วไป การประกอบโรคศิลปะ 4

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง : ป.รัษฎากรฯ (มาตรา 39, 40(2),(6))
     
เลขที่คำพิพากษาฏีกา : 3193/2543
     
เรื่อง :

คืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินเพิ่มกับคืนภาษี

     
ฏีกา :

โจทก์  นางสาวศรีวลี  ลิ่มกังวาฬมงคล

 

จำเลย  กรมสรรพากร  กับพวก

 
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสียและให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินเพิ่มกับคืนภาษีส่วนที่โจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไปรวมเป็นเงิน 75,144.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามประมวลรัษฎากรแก่โจทก์
 
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รายรับจากค่าบริการรักษาฟันจำนวน1,751,857.44บาทตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นรายรับของโจทก์ทั้งจำนวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
 
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และให้จำเลยทั้งสี่คืนเงินภาษีและเงินเพิ่มกับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเกินไปรวมเป็นเงิน 75,144.69 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
 
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ประกอบวิชาชีพอิสระโดยได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน เป็นทันตแพทย์ให้บริการรักษาฟันอยู่ที่โรงพยาบาลในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอิสระประกอบโรคศิลปะ มีข้อตกลงกับโรงพยาบาลฟังว่าค่าบริการรักษาฟันที่โจทก์เป็นผู้ให้บริการนั้น โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งในอัตราประมาณร้อยละ 50 ของค่าบริการรักษาที่โจทก์ได้ปฏิบัติงานจริงเท่านั้น ในการให้บริการรักษาฟันของโจทก์สำหรับปีภาษี 2538 โรงพยาบาลฟันได้รับค่าบริการรักษาฟันโดยโจทก์เป็นเงิน 1,751,857.44บาท โจทก์รับส่วนแบ่งในอัตราร้อยละ 50 เป็นเงิน 875,928.72 บาทและเสียภาษีเงินได้ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอิสระประกอบโรคศิลปะตามยอดเงินที่ได้รับส่วนแบ่งแล้วคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่ารายได้ส่วนที่โรงพยาบาลฟังรับไปเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขาทันตกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 38 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519ที่ใช้บังคับในขณะนั้นและตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537มาตรา 4 วรรคหนึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า "วิชาชีพทันตกรรม" หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจการวินิจฉัย การบำบัดหรือการป้องกันโรคฟัน โรคอวัยวะที่เกี่ยวกับฟัน โรคอวัยวะในช่องปากโรคขากรรไกรและกระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกร รวมทั้งการกระทำทางศัลยกรรมและการกระทำใด ๆ ในการบำบัด บูรณะและฟื้นฟูสภาพของอวัยวะในช่องปาก กระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกรและการทำฟันในช่องปากและในวรรคสามได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากทันตแพทยสภา ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่าลักษณะของการประกอบวิชาชีพของโจทก์ ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ตามที่โจทก์ได้ศึกษาและรับการฝึกอบรมในหลักสูตรวิชาชีพทันตกรรมมา การวินิจฉัยเพื่อให้การบำบัดรักษาโรคตามหลักวิชาชีพของโจทก์ ย่อมเป็นไปโดยอิสระภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 รวมทั้งการคิดค่าบริการรักษาด้วย ดังนั้น การให้การบริการรักษาฟันของโจทก์ รวมทั้งคิดค่าบริการรักษาที่ให้กระทำในโรงพยาบาลฟัน จึงเป็นการกระทำของโจทก์ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอิสระและเมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 39วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าเงินได้พึงประเมินหมายความว่า "เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน.." ประกอบมาตรา 40 ที่บัญญัติประเภทของเงินได้พึงประเมินไว้ รวมถึงเงินได้จากวิชาชีพอิสระอนุมาตรา (6) ว่า "คือวิชากฎหมายการประกอบโรคศิลปะวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้" อันจำแนกไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นผู้ให้บริการรักษาฟันจนเป็นผลให้มีการจ่ายค่าบริการเพราะการนี้จำนวน 1,751,857.44 บาท ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้รับไว้เอง หรือโรงพยาบาลฟันรับไว้แทนย่อมเป็นประโยชน์อันสืบเนื่องมาจาก การประกอบวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะของโจทก์โดยตรง และไม่ว่าโรงพยาบาลฟังจะได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ก็ตามหรือรับส่วนแบ่งจากยอดเงินดังกล่าวไปหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงให้เงินดังกล่าวอันเป็นเงินได้ประกอบวิชาชีพอิสระของโจทก์เป็นเงินได้ประเภทอื่น โจทก์จึงเป็นผู้มีเงินได้ทั้งจำนวนใช่โจทก์มีเงินได้เฉพาะเพียงส่วนแบ่งที่โจทก์ได้รับไว้เท่านั้น ดังนั้น เงินรายรับส่วนที่โรงพยาบาลฟันรับไปจึงเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ด้วย การหักค่าใช้จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้จากวิชาชีพอิสระประกอบโรคศิลปะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(6) และค่าลดหย่อน จึงต้องหักจากยอดเงินได้พึงประเมินค่าบริการรักษาฟันจำนวน1,751,857.44 บาท แล้วนำเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วมาคิดคำนวณให้โจทก์เสียภาษีพร้อมเงินเพิ่มเติมดังคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึง ที่ 4 ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
 
ส่วนปัญหาที่ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจปรับปรุงเงินได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินหรือไม่ เห็นว่า คดีมีเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินว่า เงินได้ของโจทก์ร้อยละ 50 เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) และให้โจทก์เสียภาษีเงินได้พร้อมเงินเพิ่มรวม 74,633 บาท แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าเป็นเงินไดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(6) โดยต้องนำเงินได้ทั้งจำนวนมาคำนวณเสียภาษีและให้โจทก์เสียภาษีพร้อมเงินเพิ่มรวม50,214.49 บาท คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ว่าเงินได้ซึ่งโจทก์ได้รับค่าบริการของโจทก์จำนวน875,928.72 บาทจากยอดเงิน 1,751,857.44 บาท ซึ่งโรงพยาบาลฟันรับส่วนต่างไปเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(2) ดังนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีจากยอดเงินได้ทั้งจำนวนเป็นเพียงคิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายมิได้เอาเงินได้อื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษี จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจทำได้"
 
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

(พลประสิทธิ์  ฤทธิ์รักษา-สันติ  ทักราล-เรืองฤทธิ์  ศรีวรรธนะ)