News

ทั่วไป การประกอบโรคศิลปะ 5

เลขที่หนังสือ : กค 0811/14729
     
วันที่ : 27 ตุลาคม 2540
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าตอบแทนของพยาบาลที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตามจำนวนชั่วโมง และจำนวนครั้งที่ปฏิบัติงาน

     
ข้อกฎหมาย : ประเด็นปัญหา
     
ข้อหารือ :
นางสาว ก. รับราชการเป็นพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลของราชการ และได้ใช้เวลาว่างจากการปฏิบัติงานประจำไปทำงานให้แก่โรงพยาบาลของเอกชน โดยได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนชั่วโมงและจำนวนครั้งที่ปฏิบัติงาน ไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ลักษณะการทำงานคือ ฉีดยา ให้น้ำเกลือ ให้เลือด ให้ยา ให้การพยาบาลผู้ป่วยและปฏิบัติงานตามคำสั่งของแพทย์ นางสาว ก. เห็นว่าเงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ ตามมาตรา 40(6)แห่งประมวลรัษฎากร เพราะพยาบาลที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ในสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ขอทราบว่าการคำนวณภาษีของ นางสาว ก. ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด
     
แนววินิจฉัย : ตามข้อเท็จจริง นางสาว ก. มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 สาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามพระราชบัญญัติการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงถือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 4 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 แต่ค่าตอบแทนที่โรงพยาบาลเอกชนจ่ายให้ นางสาว ก. โดยคำนวณจากการปฏิบัติงานตามจำนวนชั่วโมงและจำนวนครั้งที่ปฏิบัติงานเข้าลักษณะเป็นผลตอบแทนแรงงาน ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่ที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ตามมาตรา 40(2)แห่งประมวลรัษฎากร และต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมิใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีของสรรพากรพื้นที่ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี พ.ศ. 2538 ซึ่งนางสาว ก. ได้คำนวณภาษีเงินได้ที่ได้รับจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากรจึงไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมายดังกล่าว
     
เลขตู้ :

60/25989