News

ทั่วไป การประกอบโรคศิลปะ 7

เลขที่หนังสือ : กค 0811(กม)/1435
     
วันที่ : 7 สิงหาคม 2541
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีโรงพยาบาลจ้างบุคลากรจากที่อื่นมาทำงานนอกเวลา

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา40 (1), มาตรา40 (2), มาตรา40 (6)
     
ข้อหารือ :
กรณีโรงพยาบาล ก. ได้ว่าจ้างเภสัชกร พยาบาลและเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรจากที่อื่นมาทำงานนอกเวลาให้กับโรงพยาบาลฯ การที่โรงพยาบาลฯ จ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลดังกล่าวเป็นอัตราต่อเวรและต่อชั่วโมงถือเป็นการจ้างแรงงาน เพราะโรงพยาบาลฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้แรงงานตามกำหนดเวลาว่าจ้าง เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างแรงงานเป็นรายเดือน ผู้รับค่าจ้างแรงงาน มิได้มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ประกอบกับผู้ป่วยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลฯ มิใช่คนไข้ที่ผู้รับจ้างนำเข้ามารักษาพยาบาลเอง การจ่ายค่าตอบแทนของโรงพยาบาลฯ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร โรงพยาบาลฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอทราบว่า ความเห็นดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
     
แนววินิจฉัย :
1.

คำว่า "ศิลปะ" ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง การประกอบโรคศิลปะตามคำนิยามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 ซึ่งหมายความว่า กิจการใด ๆ อันกระทำโดยตรงต่อร่างกายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

   
 
(1)

เวชกรรม

   
(2)

ทันตกรรม

   
(3) เภสัชกรรม
   
(4) การพยาบาล
   
(5) การผดุงครรภ์
   
(6) กายภาพบำบัด
   
(7) เทคนิคการแพทย์
   
2.

โดยที่ในปัจจุบันได้มีการแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรมเภสัชกรรม การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสภาการพยาบาลขึ้น ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ และการพยาบาลและการผดุงครรภ์ แทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ ดังต่อไปนี้

   
 
(1)

พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไป

"ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรมตามมาตรา 4 และผู้ได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาเภสัชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามมาตรา 55

   
(2)

พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 กันยายน 2528 เป็นต้นไป "ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลจากสภาการพยาบาล "ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล "ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาลตามมาตรา 4 และผู้ได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาลสาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาล และผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามมาตรา 50

   
(3) พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2497 ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2480 เป็นต้นไป ตามมาตรา 4 (7) และมาตรา 15 (3) คือ "เทคนิคการแพทย์ คือ การกระทำใด ๆ ด้วยกรรมวิธีทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัย และทำนายความรุนแรงของโรค" สำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลกายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ ต้อง
   
 
(ก)

มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาในประเทศไทยที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะรับรอง แต่คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอาจสอบความรู้ก่อนก็ได้

   
(ข)

มีปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากสถานศึกษาในต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ตนได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ได้สอบความรู้เป็นที่พอใจแล้ว แต่ถ้าเป็นคนไทยไม่จำต้องเป็น ผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรดังนั้น "โรคศิลปะ" ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จึงหมายถึง การประกอบโรคศิลปะตามคำนิยามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.
2497 และตามเจตนารมย์ตามประมวลรัษฎากร หมายความรวมถึง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมการพยาบาล การผดุงครรภ์การพยาบาลและการผดุงครรภ์และเทคนิคการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติตามข้อ 3.2 (1) - (3) ด้วย แต่ทั้งนี้ ค่าตอบแทนที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทใด จะต้องพิจารณาตามลักษณะของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร

   
3. กรณีตามข้อเท็จจริง
   
 
(1)

เภสัชกร ไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเอกชนเป็นครั้งคราว และได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน แต่ละเดือนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเวลาปฏิบัติงาน โดยคำนวณตามชั่วโมงการทำงานเป็นอัตราต่อเวรต่อชั่วโมง กรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

   
 
(ก)

เป็นบุคคลซึ่งได้รับทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และ

   
(ข)

ปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 โดยขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม (ไม่รวมถึงการปฏิบัติงานในลักษณะงานธุรการ) ดังนี้

"วิชาชีพเภสัชกรรม" หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งการดำเนินการปรุงยาและการขายยา ตามกฎหมายว่าด้วยยา"และ

   
(ค) ได้รับค่าตอบแทนโดยคำนวณจากผลการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำ โดยต้องมีผู้มารับการรักษา ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
   
(2)

พยาบาล ที่ไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเอกชน และได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับเวลาปฏิบัติงาน โดยคำนวณตามชั่วโมงการทำงานเป็นอัตราต่อเวรต่อชั่วโมง กรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

   
 
(ก)

เป็นบุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล วิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และ

   
(ข)

ปฏิบัติงานตามวิชาชีพ "การพยาบาล" หรือ "การผดุงครรภ์" ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 (ไม่รวมถึงพยาบาลที่ปฏิบัติงานในลักษณะงานธุรการ) ดังนี้

"การพยาบาล" หมายความว่า การกระทำในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการของโรค และการลุกลามของโรค การประเมินภาวะสุขภาพ การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพอนามัย และการป้องกันโรค รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์ และการกระทำตามคำสั่งในการรักษาโรคของแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล

"การผดุงครรภ์" หมายความว่า การตรวจ การแนะนำ การส่งเสริมสุขภาพ และการปฏิบัติต่อหญิงมีครรภ์ การป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด การทำคลอด การดูแล และส่งเสริมสุขภาพมารดา และทารกในระยะหลังคลอด รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์ และการกระทำตามคำสั่งในการรักษาโรคของแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์ และ

   
(ค) ได้รับค่าตอบแทนซึ่งคำนวณจากผลการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำ โดยต้องมีผู้มารับการรักษา ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
   
(3) เทคนิคการแพทย์ ไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเอกชนเป็นครั้งคราว และได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน แต่ละเดือนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเวลาปฏิบัติงาน โดยคำนวณตามชั่วโมงการทำงานเป็นอัตราต่อเวรต่อชั่วโมง กรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
   
 
(ก)

เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเทคนิคการแพทย์ โดยเป็นผู้ได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 และ

   
(ข)

ปฏิบัติงานด้านเทคนิคการแพทย์ ไม่รวมถึงการปฏิบัติงานในลักษณะงานธุรการ และ

   
(ค) ได้รับค่าตอบแทนโดยคำนวณจากผลการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำ โดยต้องมีผู้มารับการรักษา ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร 3.4 หากข้อเท็จจริง ไม่เข้าลักษณะตาม 3.3 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
     
เลขตู้ :

61/26979