News

ทั่วไป ใบกำกับภาษีปลอม

เลขที่หนังสือ : กค 0811/พ.14516
     
วันที่ : 21 ตุลาคม 2540
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม การประเมินภาษีกรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอม

     
ข้อกฎหมาย : ประเด็นปัญหา
     
ข้อหารือ : เจ้าพนักงานประเมินฯ ได้ทำการตรวจสอบพบว่าห้างฯ ได้นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีซื้อ จึงทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับ 3 เท่า ของเงินภาษีและเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ห้างฯ จึงขอให้พิจารณาทบทวนการประเมินภาษีของกรมสรรพากร โดย

1.

ขอให้งดเบี้ยปรับ 3 เท่า ของตัวภาษี คงให้ชำระเฉพาะตัวภาษี 7% และเงินเพิ่ม1.5%

   
2. ขอผ่อนชำระค่าภาษีที่ถูกประเมิน โดยขอแบ่งผ่อนชำระเป็นงวดได้
   
3. ให้ใช้ใบกำกับภาษีส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากห้างฯ ได้ซื้อสินค้านั้นจริง
     
แนววินิจฉัย :
1.

กรณีการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้คำนวณภาษีซื้อในแบบ ภ.พ.30 เป็นเหตุให้ภาษีที่ต้องเสียและภาษีซื้อในเดือนภาษีนั้นคลาดเคลื่อน ห้างฯ ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมและเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของภาษีที่คลาดเคลื่อน หรือภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ตามมาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตามมาตรา 89/1 ทั้งต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร

   
  สำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบและประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้าห้างฯ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานฯ ห้างฯ ก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านการประเมินนั้นได้ โดยการยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
   
2. ห้างฯ มีสิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีอากรที่เกิดจากใบแจ้งภาษีอากรได้ ตามข้อ 5 และข้อ 6 แห่งระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร พ.ศ.2539
   
3. ในการพิสูจน์รายจ่ายในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าห้างฯ พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
ตามใบกำกับภาษีนั้น จะมีผลให้ใบกำกับภาษีนั้นนำมาเป็นหลักฐานการจ่ายไม่ได้ ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากใบกำกับภาษีนั้น ห้างฯพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ใบกำกับภาษีนั้นถือเป็นหลักฐานการจ่ายได้
     
เลขตู้ :

60/25976