News

ทั่วไป ใบกำกับภาษีมิชอบด้วยกฎหมาย

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2805
     
วันที่ : 4 เมษายน 2555
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอหารือเกี่ยวกับการเป็นผู้ออกและใช้ใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/5(5) มาตรา 86 มาตรา 89(6) และมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
1.

บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง ไปใช้ในการเครดิตภาษี และบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับ ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวถือว่าเป็นใบกำกับภาษี ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

   
2.

บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขาย โดยไม่มีการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ และไม่มีการนำใบกำกับภาษีไปใช้เครดิตภาษี แต่บริษัทฯ ได้นำมูลค่าในใบกำกับภาษีนั้นไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม การกระทำของบริษัทฯ เป็นกรณีกระทำความผิด และมีโทษในทางแพ่งและทางอาญา

     
แนววินิจฉัย :
1.

กรณีเจ้าพนักงานสรรพากรได้สอบยันใบกำกับภาษีซื้อของบริษัทฯ แล้วพบว่า บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยบริษัท ธ. ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 ตุลาคม 2553 แจ้งว่า บริษัท ธ. ไม่มีการประกอบกิจการใดๆ และมีพฤติการณ์เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และสำนักงานสรรพากรพื้นที่ปทุมธานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 แจ้งว่า บริษัท อ. มีพฤติการณ์เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีการซื้อ - ขายสินค้าจริง ดังนั้นกรณีบริษัทฯ นำใบกำกับภาษีของบริษัททั้งสองราย ดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการซื้อสินค้า และมีการชำระเงินค่าสินค้าจริง บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)(4) และ(7) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่อง การคำนวณเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2542 และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีความผิดอาญาตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร

   
2.

กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ จริง และบริษัทฯ ได้นำมูลค่าในใบกำกับภาษีขายนั้น ไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่า ของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

   
3.

กรณีการกระทำความผิดตาม 1. และ 2. กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร

     
เลขตู้ :

75/38087