News

ค่าใช้จ่าย การจำหน่ายหนี้สูญ 5

เลขที่หนังสือ : กค 0706/2166
     
วันที่ : 19 กุมภาพันธ์ 2550
     
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ : บริษัท ก. ได้ฟ้องคดีลูกหนี้เพื่อพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงินตามคำฟ้องของบริษัท ก. และ ศาลได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลให้ลูกหนี้ชำระเงินตามคำพิพากษาของศาลแล้ว และเพื่อ ให้เป็นไปตามแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร บริษัท ก. ได้ให้ทนายความติดตามสืบหาทรัพย์สิน ของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ปิดกิจการและหลบหนีไป และไม่มีทรัพย์สินใดๆให้ยึดมาชำระหนี้ได้ บริษัท ก. ได้ดำเนินการนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้และมีรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน อื่นใดให้ยึดได้ บริษัท ก. จึงขอทราบว่า การดำเนินการข้างต้นเข้าหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้แล้วหรือไม่ อย่างไร
     
แนววินิจฉัย :

บริษัท ก. มีสิทธิใช้หลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบการจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534
 

  1. แจ้งรายงานการติดตามหาทรัพย์สินลูกหนี้ของทนายความเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือ
     
  2. บริษัท ก. อาจใช้สำเนารายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่แสดงว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้องของรายงานด้วย

ดังนั้น หากบริษัท ก. ได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น บริษัท ก. มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 (2) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ

     
เลขตู้ : 70/34791