News

ต่างชาติ จ่ายเงินค่าวัตถุดิบและค่าบริการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/5821
     
วันที่ :

13 มิถุนายน 2550

     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าวัตถุดิบและค่าบริการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(2) มาตรา 40(8) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายโภชนภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้ว่าจ้างบริษัท ฟ. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียประกอบกิจการให้บริการวิจัยและพัฒนาด้านโภชนภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ ให้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่บริษัทฯ ตามที่บริษัทฯ กำหนดโดยบริษัท ฟ. มีหน้าที่จัดหาวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อได้ผลสำเร็จตามประเภทและลักษณะที่บริษัทฯ กำหนดแล้ว บริษัทฯ จึงจะจ่ายค่าจ้าง โดยในการแจ้งเรียกเก็บค่าจ้างดังกล่าวบริษัท ฟาร์มาเทรดฯ จะแยกใบแจ้งหนี้และเรียกเก็บเงินเป็น 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 จะเรียกเก็บเงินค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการพัฒนาตามจำนวนที่บริษัท ฟาร์มาเทรดฯ ได้ทดรองจ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 750,000 เหรียญสหรัฐต่อรอบระยะเวลา 12 เดือน และฉบับที่ 2 จะเรียกเก็บเงินเป็นค่าจ้างที่บริษัท ฟาร์มาเทรดฯ ได้ทำงานตามที่รับจ้าง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
   
1. จำนวนเงินที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 1 เข้าลักษณะเป็นเงิน "ค่าสินค้า" อันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
   
2. จำนวนเงินที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 2 เข้าลักษณะเป็น "ค่าบริการ" ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นเงินกำไรธุรกิจตามข้อ 7 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่บริษัท ฟ. ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทยและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ที่จ่าย ตามข้อ 5 และข้อ 7 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซียฯ ใช่หรือไม่
     
แนววินิจฉัย :

บริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัท ฟ. ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทฯ ถือเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากการให้บริการดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยี หรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ย่อมเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากกำไรธุรกิจ และหากบริษัท ฟ. ในประเทศมาเลเซียไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และหรือไม่ได้ประกอบการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท ฟ. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างไปให้บริษัท ฟ. บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505

     
เลขตู้ :

70/35025