News

ต่างชาติ จ่ายให้บริษัทในต่างประเทศ - ค่าแนะนำทั่วไป ถ่ายทอดและไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยี

เลขที่หนังสือ : กค 0706/9628
     
วันที่ : 17 พฤศจิกายน 2548
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ ผู้ประกอบการในต่างประเทศ สำหรับการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 27 มาตรา 65 มาตรา 70 และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัทฯ ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ สำหรับการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้

1.

บริษัทฯ ประกอบกิจการซ่อมอากาศยานของส่วนราชการต่าง ๆ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเภท 4.7 กิจการผลิต หรือซ่อมอากาศยานรวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานหรือเครื่องใช้บนอากาศยานเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 เป็นระยะเวลา 8 ปี บริษัทฯ เริ่มมีรายรับจากการให้บริการซ่อมอากาศยานเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 และได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 จนถึงปัจจุบัน

   
2.

เนื่องจากการซ่อมอากาศยานบางรุ่น (Model) บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ พร้อมจ้างผู้เชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อมาให้บริการในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการในต่างประเทศ จะเรียกเก็บเงิน โดยแยกรายการค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ (Material) และค่าบริการ (Supervision Fee) ออกจากกัน ซึ่งบริษัทฯ จะจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวบางรายการให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยตรง ดังนี้

   
 
2.1.

ปี 2547 ค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ (Material)

   
2.2.

ปี 2548 ค่าบริการ (Supervision Fee) งวดแรก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 ซึ่งในการจ่ายเงินค่าบริการดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ได้หักภาษีเงินได้ และนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) นำส่งกรมสรรพากร

   
3. บริษัทฯ จึงหารือว่า
   
 
3.1.

กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร

   
3.2.

หากกรมสรรพากรเห็นว่า บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการจ่ายเงินค่าบริการจ้างผู้เชี่ยวชาญไปต่างประเทศ บริษัทฯ ขอให้กรมสรรพากรพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

   
4. ต่อมา บริษัทฯ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้
   
 
4.1.

บริษัทฯ ต้องจ้างผู้ควบคุมการซ่อมหรือผู้เชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการในต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทผู้ให้บริการซ่อมอากาศยานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เนื่องจากในการซ่อมเครื่องบินแต่ละแบบ ซึ่งความเสียหายอาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการชำรุดตามสภาพ หรือการตรวจซ่อมตามวงรอบ การให้บริการซ่อมจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะด้านที่มีความรู้ความชำนาญจากบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทผู้ให้บริการซ่อมอากาศยานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลกำกับดูแล และให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เพื่อให้งานซ่อมบำรุงถูกต้อง และได้มาตรฐานตามข้อกำหนด

   
4.2.

ผู้ควบคุมการซ่อมหรือผู้เชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการในต่างประเทศมีหน้าที่ควบคุมการซ่อม ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ โดยงานซ่อมส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการซ่อมเอง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ จากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้ให้บริการซ่อมอากาศยานดังกล่าว

   
4.3. ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้ให้บริการซ่อมอากาศยานจากต่างประเทศ รวม 4 แห่ง ได้แก่
     
แนววินิจฉัย : กรณีบริษัทฯ จ้างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทผู้ให้บริการซ่อมอากาศยานในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท A บริษัท S บริษัท M และบริษัท P เข้ามาควบคุมการซ่อม ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีการซ่อมปรับปรุงอากาศยานให้แก่ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินค่าบริการ (Supervision Fee) ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศโดยตรง ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวแยกพิจารณาได้ ดังนี้

1.

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

   
 
1.1.

กรณีผู้เชี่ยวชาญของบริษัท A ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอิตาลี ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้น 24 เดือน และกรณีผู้เชี่ยวชาญของบริษัท S ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้น 120 วัน ไม่ถือว่าบริษัท A และบริษัท S ได้ประกอบธุรกิจให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น การจ่ายเงินค่าบริการ (Supervision Fee) ให้กับบริษัท A และบริษัท S เงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ (Business Profit) เมื่อบริษัท A และบริษัท S ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A และบริษัท S จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การให้คำปรึกษา และแนะนำด้านการซ่อมอากาศยาน ของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ข้อสนเทศ เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งบริษัท A และบริษัท S มีสิทธิหวงกันแล้ว ค่าตอบแทนการให้บริการ (Supervision Fee) ย่อมเข้าลักษณะเป็น “ค่าสิทธิ” ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 วรรคสอง (ข) แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐอิตาลีฯ และข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505

   
1.2.

กรณีผู้เชี่ยวชาญของบริษัท M ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของสาธารณรัฐเชค ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้น 11 เดือน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท M เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ในระยะเวลาสิบสองเดือน ถือว่าบริษัท M มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสอง (ญ) แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเชค เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บริษัท M จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากเงินได้ หรือกำไรเพียงเท่าที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้น ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงฯ ดังกล่าว โดยคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินค่าบริการให้กับบริษัท M ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 โดยใช้แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 53 นำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามข้อ 12 และข้อ 13 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการหักภาษีให้ถูกต้อง บริษัทฯ จึงต้องนำส่งภาษีที่มีหน้าที่หัก พร้อมกับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร อีก
ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และกรณีดังกล่าวยังไม่ถือเป็นเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดได้ จึงไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร

   
1.3. กรณีผู้เชี่ยวชาญของบริษัท P ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้น 150 วัน ค่าบริการที่บริษัทฯ จ่ายให้กับบริษัท P เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ (Business Profits) แต่เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท P ได้ให้บริการในประเทศไทยเป็นระยะเวลารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือนใด ๆ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบริษัท P ได้ประกอบกิจการให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวร ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น บริษัท P จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการ
ป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจากทุนประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษา และแนะนำด้านการซ่อมอากาศยานของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งบริษัท P มีสิทธิหวงกันแล้ว ค่าตอบแทนการให้บริการ (Supervision Fee) ย่อมเข้าลักษณะเป็น “ค่าสิทธิ” ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 วรรคสอง (ข) แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักร
ไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียฯ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
   
2.

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก บริษัท A บริษัท S บริษัท M และบริษัท P เป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ได้เข้ามาขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินค้า หรือค่าบริการให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องเสีย โดยยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ มิได้นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียภาษีภายในกำหนดเวลา บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ แต่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งทั้งนี้ ตามมาตรา 83/6 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรณียังไม่ถือเป็นเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดได้ จึงไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร

     
เลขตู้ :

68/33686