News

ต่างชาติ จ่ายให้บริษัทในต่างประเทศ - ค่าบริการสารสนเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5432
     
วันที่ : 24 มิถุนายน 2556
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่บริษัทในต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
1.

บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นตัวแทนโฆษณาและรับทำโฆษณา บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยตามสัญญาดังกล่าวบริษัท อ. จะให้บริการดังต่อไปนี้

   
 
1.1.

บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Access Services)

   
1.2. บริการโครงข่ายข้อมูล (Data Network Services)
   
1.3. บริการการจัดการและการสนับสนุนไฟร์วอลล์ (Firewall Management and Support Services)
   
1.4. บริการการจัดการอุปกรณ์สลับสัญญาณหลัก (Core switch Management Services)
   
1.5. บริการโลตัสโน๊ตอีเมล์ (Lotus Notes Email Services)
   
1.6. บริการการถ่ายโอนไฟล์ขนาดใหญ่ (Large File Transfer (LFT) Services)
   
1.7. การบริการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ระยะไกล บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เสมือนว่าเป็นของตัวเอง (Remote Access Desktop Laptop VPN Services)
   
1.8. บริการแหล่งรวบรวมอีเมล์ระยะยาว (Long Term Email Archive Services)
   
1.9. บริการสนับสนุนการใช้เครื่องแบล็คเบอร์รี่ (Blackberry Support Services)
   
1.10. บริการโฮสติ้งศูนย์ข้อมูล (Data Centre Hosting Services)
   
1.11. บริการการจัดการโดเมนเนมในอินเทอร์เน็ต (Internet Domain Name Management Services) ในการติดต่อและประสานงานนั้น บริษัทฯ จะติดต่อโดยตรงกับบริษัท อ. ที่ประเทศสิงคโปร์ผ่านทางโทรศัพท์และอีเมล์ โดยบริษัท อ. ไม่ได้ส่งพนักงานหรือลูกจ้างเข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใด และบริษัทฯ จะชำระเงินค่าบริการตรงไปที่ประเทศสิงคโปร์เช่นกัน
     
แนววินิจฉัย :
1.

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กรณีที่ บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการให้บริการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากประเทศไทย บริษัท อ. ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีแต่อย่างใด

   
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจ่ายเงินค่าบริการตามข้อเท็จจริงดังกล่าวให้แก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ดังนั้น บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องนำส่งเงินภาษีพร้อมยื่นแบบ ภ.พ. 36 ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
     
เลขตู้ :

76/38661