News

ค่าใช้จ่าย การจำหน่ายหนี้สูญ 7

เลขที่หนังสือ : กค 0706/11436
     
วันที่ : 14 พฤศจิกายน 2550
     
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้
     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (9) ข้อ 4(21) และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
     
ข้อหารือ :

บริษัท ก.หารือภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
 

  1. บริษัทฯ เป็นผู้ผลิต จำหน่าย และส่งออกกระจกแผ่นลวดลาย โดยมียอดขายต่างประเทศประมาณร้อยละ 85 ของยอดขาย ส่วนในประเทศจะขายให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรและโครงการบ้านมั่นคงในระหว่างเดือนกันยายน 2540 ถึงเดือนเมษายน 2541 บริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศอียิปต์ราย บริษัท อ. จำกัด และ Mr. K กรรมการบริษัท อ. แต่ได้รับชำระค่าสินค้าเพียงบางส่วนคงค้างเป็นเงิน 471,869.90 เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทย 20,545,215.44 บาท บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามจากลูกหนี้หลายครั้งแต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ให้บริษัท อ. จำเลยที่ 1 และ Mr. K จำเลยที่ 2 ลูกหนี้ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
     
  2. โดยเหตุที่ลูกหนี้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศอียิปต์ คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินฯ ไม่อาจใช้บังคับในประเทศอียิปต์ได้ เนื่องจาก ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศหรือความตกลงทวิภาคีรองรับกระทรวงการต่างประเทศจึงแนะนำให้บริษัทฯ ดำเนินคดีในประเทศอียิปต์ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการการดำเนินคดีในศาลอียิปต์ แต่กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ไม่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องค่าใช้จ่าย ระยะเวลาความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสชนะคดีและการบังคับชำระหนี้ บริษัทฯ จึงมิได้ดำเนินคดีในประเทศอียิปต์

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินฯ จำนวนเงิน 471,869.90 เหรียญสหรัฐ ออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :
  1. การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าเป็นหนี้ของลูกหนี้ในประเทศหรือต่างประเทศ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 สำหรับกรณีที่เจ้าหนี้จะดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 4(2) ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดให้ศาลไทยยอมรับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศให้มีผลใช้บังคับในราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด ดังนั้น ในการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้จึงไม่อาจใช้คำพิพากษา คำบังคับ หรือคำสั่งของศาลต่างประเทศเป็นเอกสารในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามข้อ 4(2) ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้แต่อย่างใด
     
  2. กรณีบริษัทฯ จะดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจำนวนเงิน 471,869.90 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ต่างประเทศเป็นคดีแพ่งในศาลทรัพย์สินฯ ถ้าได้มีคำบังคับหรือคำสั่งศาลแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่อยู่ในประเทศไทยจะชำระหนี้ได้ บริษัทฯ ย่อมจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและ ขาดทุนสุทธิได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(2) และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
     
เลขตู้ : 70/35445