News

ต่างชาติ จ่ายให้บริษัทในต่างประเทศ - เงินค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เลขที่หนังสือ : กค 0702/3370
     
วันที่ : 14 พฤษภาคม 2553
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนเงินค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/3 มาตรา 83/6(2) มาตรา 70 และมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์จาก ประเทศสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศ โดยโปรแกรม คอมพิวเตอร์ 1 ชุดราคา 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะประกอบด้วย โปรแกรม คอมพิวเตอร์ 1 กล่อง ราคา 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ และ สิทธิในการอับเกรดโปรแกรมทางอีเมลล์ อายุ 1 ปี ราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ บริษัทฯ ขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ 1 ชุด บริษัทฯ จะได้รับส่วนลดจากบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 5 ของราคาโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ส่วนลดดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิ นำไปใช้ในการสั่งสินค้าครั้งต่อไป บริษัทฯ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะในส่วนของสิทธิใน การอับเกรดโปรแกรม เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่า ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น บริษัทฯ ได้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางกรมศุลกากร แล้วหากบริษัทฯ คำนวณ ภ.พ. 36 ด้วย ราคา 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ อีก บริษัทฯ จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน บริษัทฯ จึงหารือว่า ความเห็น ของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่

     
แนววินิจฉัย :

กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินค่าใช้โปรแกรม คอมพิวเตอร์ให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์ ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ ตาม ข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ สิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินค่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และตามอนุสัญญาดังกล่าว

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินค่าโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ กรณีดังกล่าว ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งให้บริการในต่างประเทศและ ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับ หรือพึงได้รับจากการให้บริการ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่บริษัทฯ ได้เสียไปแล้ว มาหัก ออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

     
เลขตู้ :

73/37287