News

ต่างชาติ จ่ายให้บริษัทในต่างประเทศ - สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าให้กับนิติบุคคลในต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/6652
     
วันที่ : 19 สิงหาคม 2552
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าให้กับนิติบุคคลในต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัท ม. (บริษัทฯ) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องที่ให้ความบันเทิงโดยส่งออกไปจำหน่าย ต่างประเทศ บริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องหมายการค้าจากบริษัท เมด นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายมลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้กับเครื่องเล่นปาเป้าเพื่อส่งไปจำหน่ายประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการจำหน่ายเครื่องเล่นดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น จะต้องเป็นเ ครื่องเล่นที่มีเครื่องหมายการค้าเป็นที่ยอมรับและรู้จักในตลาดเครื่องเล่น โดยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะไม่สามารถใช้ในที่อื่นได้ นอกจากในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น บริษัทฯ กับเจ้าของสิทธิต้องไปจดทะเบียนเพื่อครอบครองเครื่องหมายการค้าในประเทศญี่ปุ่น หากบริษัทฯ ปฏิบัติผิดเงื่อนไขจะต้องถูกบอกเลิกสัญญา และบริษัท เมดไม่สามารถส่งสินค้าประเภทดังกล่าวไปขายที่ประเทศญี่ปุ่นได้

บริษัทฯ ได้จ่ายค่าสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้าให้แก่ บริษัทเมด จำนวนเงิน 3,000,000 เหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าตาม บัญชี 115,303,200 บาท โดยทยอยจ่ายในเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2548 จนครบรวม จำนวนเงินที่จ่ายให้แก่บริษัทเมด เป็นจำนวน 119,284,215.19 บาท บริษัทฯ จะหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทยอยตัดจ่ายโดยใช้วิธีเส้นตรงเป็นเวลา 10 ปี บริษัทฯ ได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า สำหรับพื้นที่ที่กำหนดในสัญญาและมีสิทธิที่จะโอนเครื่องหมายการค้านี้ให้กับผู้ที่มาขอซื้อ กิจการได้ เพราะตามสัญญาฯ ไม่ได้ระบุห้ามไว้ ซึ่งบริษัทฯ ก็ไม่ได้ขายเครื่องหมายการค้านี้แต่อย่างใด บริษัทฯ เห็นว่า กรณีบริษัทฯ ใช้เครื่องหมายการค้าในต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
แนววินิจฉัย : บริษัทฯ ได้สิทธิใช้เครื่องหมายการค้า โดยใช้กับเครื่องเล่นปาเป้าที่บริษัทฯ ผลิต ซึ่งบริษัทฯ จะต้องร่วมกับเจ้าของสิทธิไปทำการจดทะเบียนเพื่อครอบครองเครื่องหมายการค้าในประเทศญี่ปุ่นและสงวนสิทธิให้ส่งไปจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น บริษัทฯ ไม่มีสิทธิจำหน่ายเครื่องเล่นที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยหรือประเทศอื่น และบริษัทเมดไม่มีสิทธิส่งสินค้าประเภทเดียวกันไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น การให้บริการของบริษัทเมด จึงเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และ มิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่าย ค่าสิทธิจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

72/36798