News

ค่าใช้จ่าย การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

เลขที่หนังสือ : กค 0706/47
     
วันที่ : 3 มกราคม 2551
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
     
ข้อหารือ :
คณะบุคคล ศ. จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ดำเนินกิจการให้บริการรับทำบัญชี วางระบบบัญชี และรับ จดทะเบียนธุรกิจทุกชนิด โดยนางสาว น. และนาย พ. ทั้งนี้ นางสาว น. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนคณะบุคคลในการดำเนิน ธุรกิจ โดยบุคคลทั้งสองตกลงร่วมลงทุนกันด้วยเงินสด โดยสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลฯ นางสาว น. ลงทุนจำนวน 400,000 บาท และนาย พ. ลงทุนจำนวน 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ประชุมคณะบุคคลได้มีมติให้นางสาว น. นำรถยนต์มาใช้ในกิจการแทนการลงทุนด้วยเงินสด เนื่องจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมามีความจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะในการติดต่อรับงาน และรับส่งเอกสารจำนวนมาก โดยในขณะนั้นรถยนต์คันดังกล่าวมีราคาตลาด 400,000 บาท (ประเมินโดยผู้ประกอบการรถยนต์มือสอง) มีชื่อของนางสาว น. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้จดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน เมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2543 ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2549 นางสาว น. โดยความเห็นชอบของนาย พ. ได้นำรถยนต์คันดังกล่าว ไปติดตั้งถังเชื้อเพลิงระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) ทั้งนี้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเนื่องจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงขอทราบว่า
   
1. ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคณะบุคคลฯ นั้น คณะบุคคลฯ มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตาม ความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนด ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้ พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 และคณะบุคคลฯ มีสิทธิคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์คันดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยอนุโลม ใช่หรือไม่
     
2. เนื่องจากถังเชื้อเพลิงระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไปในรถยนต์คันดังกล่าว เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะ เป็นการลงทุน ต้องห้ามไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น คณะบุคคลฯ มีสิทธินำต้นทุนการติดตั้งระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยอนุโลม ใช่หรือไม่
   
3.

คณะบุคคลฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแก๊สธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่และค่าแรง เป็นต้น มาคำนวณหักเป็นรายจ่ายเพื่อ คำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13)แห่งประมวลรัษฎากรโดยอนุโลม ใช่หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :
1.

กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคณะบุคคลฯ มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น และสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

     
2. กรณีนาง น. ซึ่งเป็นบุคคลในคณะบุคคลฯได้นำรถยนต์ของตนเองมาใช้ในกิจการเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน ของคณะบุคคลฯ และได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปติดตั้งถังน้ำมันเชื้อเพลิงระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV)แทนการลงทุนด้วยเงินสด หากกรรมสิทธิ์ในรถยนต์และถังน้ำมันเชื้อเพลิงระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของคณะบุคคลฯ คณะบุคคลฯ ย่อมไม่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้งระบบเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ ตาม มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนที่จะนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา จะต้องมีลักษณะเป็นทุนรอนกล่าวคือเป็นทรัพย์สินของคณะบุคคลฯ
   
3. กรณีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าว เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแก๊สธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่และค่าแรง หากคณะบุคคลฯ สามารถพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ คณะบุคคลฯ มีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

70/35553