สรรพากร จับมือ ก.ล.ต.รีดภาษี "โอนหุ้นนอกตลาด" อุดช่องโหว่นักลงทุนทำธุรกรรมสูง แจงคิดบนฐาน Capital Gain คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก.ล.ต.เดินหน้าเก็บข้อมูลจากโบรกฯ 1 ต.ค. 56 ส่งข้อมูลงวดแรก 15 พ.ย.นี้ สกัดโยกหุ้น "กำลังซื้อเทียม"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) รวมทั้งธนาคารและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าทางกรมสรรพากรได้ขอความร่วมมือในการจัดส่งข้อมูลของลูกค้าที่มีการโอนหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในส่วนของหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ใบสำคัญแสงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (DR) เพื่อจัดส่งให้แก่กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด
เนื่องจากการโอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์เป็นธุรกรรมที่ผู้โอน หรือผู้รับโอนมีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การจัดส่งข้อมูลของลูกค้าโอนหลักทรัพย์นอกตลาด รวมถึงลูกค้าประเภทกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลด้วย โดย บล.มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมทุกรายการที่เกิดขึ้น และให้จัดส่งรายงานให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือน โดยให้จัดส่งภายใน 15 วัน ของเดือนถัดไป
ในกรณี บล.ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุน ขอให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ให้ความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ ในการรายงานธุรกรรมโอนหลักทรัพย์ กรณีการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกองทุน (Cross Trade) ภายใต้การจัดการทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลด้วย
นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ทาง ก.ล.ต.ได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังกรมสรรพากรเกี่ยวกับประเด็นภาระภาษีดังกล่าว ซึ่งหากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากรก็จะซักซ้อมความเข้าใจเพิ่มเติม
รีดภาษีโอนหุ้นนอกตลาด
นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การขอความร่วมมือจาก ก.ล.ต.ให้จัดส่งข้อมูลการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากรนั้น เป็นเรื่องที่หารือกันมานานพอสมควรแล้ว เนื่องจากทางศูนย์บริหารภาษีนอกระบบของกรมสรรพากรเห็นว่า ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นนอกตลาดมีค่อนข้างมาก จึงได้หารือกับทาง ก.ล.ต.ซึ่งแจ้งว่ามีข้อมูลเหล่านี้อยู่
"ทางผู้อำนวยการศูนย์บริหารภาษีนอกระบบก็ได้รายงานอธิบดีกรมสรรพากรว่า ทาง ก.ล.ต.มีข้อมูล อธิบดีก็เลยให้มีหนังสือไปถึง ก.ล.ต.เพื่อขอข้อมูลซึ่งไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องส่งเมื่อไหร่ แต่พอ ก.ล.ต.ไปออกหนังสือแจ้งไปที่โบรกเกอร์ ก็เลยแตกตื่นกัน" นางจิตรมณีกล่าว
นางจิตรมณียอมรับว่า การจะบังคับให้โบรกเกอร์ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรคงไปทำไม่ได้ จึงต้องขอความร่วมมือกับทาง ก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม หากโบรกเกอร์รายใดไม่ให้ความร่วมมือ ทางกรมสรรพากรก็ต้องประสานกับ ก.ล.ต.ให้มีมาตรการบางอย่าง
"ปกติการซื้อขายหุ้นมีกำไรต้องเสียภาษี แต่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการระดมทุน ถ้าซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็เลยยกเว้นให้ แต่มีบางคนไปซื้อขายกันเองไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งข้อมูลก็อยู่กับโบรกเกอร์และ ก.ล.ต. ดังนั้นถ้ามีการส่งข้อมูลตรงนี้มาก็จะเป็นการบอกว่า อย่าแอบซื้อขายกันนอกตลาด"
โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามปกติของกรมสรรพากร ที่ต้องพยายามเก็บภาษีที่ยังอยู่นอกระบบให้ได้มากขึ้น ซึ่งดำเนินการมาตลอด ซึ่งนอกจากกรณีนี้ กรมสรรพากรยังมีความร่วมมือในการขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ อีก อาทิ ข้อมูลค่าน้ำค่าไฟของโรงงานที่ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม หรือข้อมูลจากกรมที่ดิน ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นต้น
"พวกนอกระบบยังมีอยู่อีกมาก เราก็ขอข้อมูลมาไว้ตลอด เพื่อให้หน่วยปฏิบัตินำมาวิเคราะห์ และดำเนินการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม" นางจิตรมณีกล่าว
ส่งข้อมูลลอตแรก 15 พ.ย.นี้
นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ประสานกับ บล.เพื่อขอข้อมูลการโอนหุ้นนอกตลาดของนักลงทุนแล้ว โดยจะเน้นในส่วนที่ บล.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการโอนหุ้นระหว่างลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 56 และหลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้รายงานแก่กรมสรรพากรในวันที่ 15 พ.ย. 56
"ที่ผ่านมาการทำธุรกรรมโอนหุ้นนอกตลาดจะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่เนื่องจาก บล.ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางไม่มีหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และที่ผ่านมาสรรพากรก็ไม่เคยให้ บล.รายงานเรื่องนี้ จึงทำให้ไม่มีการเรียกเก็บเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เมื่อสรรพากรซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบเห็นควรว่าจะต้องให้รายงานข้อมูล บล.ก็จะต้องให้ความร่วมมือทั้งระบบ" นางดวงมนกล่าว
ปิดช่องโยกหุ้นขอเงินโบรกฯเพิ่ม
นางดวงมนกล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลโอนหุ้นนอกตลาดฯให้สรรพากรนั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อสรรพากรในแง่ของการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นแล้ว อีกด้านก็เป็นการช่วยสกัด "กำลังซื้อเทียม" ซึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนใช้วิธีโอนหุ้นจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง จนทำให้พอร์ตของผู้ที่ได้รับโอนมีหุ้นมากขึ้น สามารถขอวงเงินเพิ่มจาก บล.ได้ ทั้งที่หุ้นในพอร์ตอาจไม่ใช่กรรมสิทธิ์แท้จริงของตน แต่เป็นเพียงเทคนิคที่อาศัยช่องโหว่จากการโอนหุ้นที่ไม่มีต้นทุนภาษีและไม่ต้องจ่ายเงินซื้อขายจริง
"เมื่อสรรพากรเรียกเก็บข้อมูลพวกนี้ ก็จะช่วยให้ธุรกรรมประเภทโอนหลักประกันเพิ่ม สร้างกำลังซื้อเทียมปรับตัวลดลง เพราะที่ผ่านมารูปแบบหนึ่งของการโอนหุ้นเกิดจากการที่นาย A โอนหุ้นไปให้นาย B เพื่อทำให้พอร์ตของนาย B มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสูง มีอำนาจในการขอวงเงินซื้อขายหุ้นจากโบรกเกอร์เพิ่มได้ ทั้งที่หุ้นนั้นอาจไม่ใช่ของนาย B จริง ๆ ดังนั้นเราก็มองว่าการที่สรรพากรเข้ามาจัดการเรื่องนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนด้วย" นางดวงมนกล่าว
นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต.ไม่ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องการโอนหุ้นของโบรกเกอร์ไว้ และทางโบรกเกอร์เองก็ไม่ได้เก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด จึงไม่มีข้อมูลว่าที่ผ่านมามีผู้ที่โอนหลักทรัพย์นอกตลาดฯมากน้อยแค่ไหน จึงต้องแจ้งให้โบรกเกอร์รับทราบและส่งข้อมูลที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
นักลงทุนโวยสับสนข้อมูล
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวการเก็บภาษีปรากฏตามสื่อต่าง ๆ พบว่านักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทได้สอบถามเข้ามาอย่างมาก เนื่องจากไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ของสรรพากรว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีการโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ณ ราคาต้นทุน หรือราคา ณ วันโอน และจะคิดในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการโอน ฯลฯ ซึ่งโบรกเกอร์เองก็ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน จึงไม่สามารถชี้แจงได้ ทำให้นักลงทุนอยู่ในภาวะที่สับสนต่อข่าวที่ออกมาเป็นอย่างมาก
"ต้องบอกว่านักลงทุนไม่แฮปปี้กับข่าว เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรออกมาเลยว่าจะจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ จะคิดราคาหุ้นจากต้นทุนที่ได้รับหรือในวันโอน หรือว่าจะเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไร แล้วถ้าการโอนหุ้นมีผลขาดทุนจะคิดภาษีอย่างไร ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้เราตอบคำถามนักลงทุนไม่ได้เลย จึงอยากให้สรรพากรชี้แจงให้ชัด ฝั่งโบรกฯจะได้ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเข้าใจ" แหล่งข่าวกล่าว
แจงเป็นภาษีกำไรจากการขายหุ้น
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก ซึ่งการซื้อขายหุ้นนอกตลาดต้องเสียภาษี แต่เนื่องจากกรมสรรพากรไม่มีข้อมูลธุรกรรม เพราะข้อมูลจะอยู่ที่โบรกเกอร์ ดังนั้นหากกรมสรรพากรได้ข้อมูลจากโบรกเกอร์ คาดว่าจะได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หารือกันมานานแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการนำเฉพาะกำไรที่เกิดขึ้น เพื่อไปบันทึกเป็นรายได้แล้วคำนวณภาษี โดยการคิดกำไรจะดูจากต้นทุนว่าซื้อเท่าไร และเมื่อโอนออกไปราคาเท่าไหร่แล้วมีกำไร หรือขาดทุน หากขาดทุนก็จะไม่ต้องเสียภาษี เพราะภาษีซื้อขายหุ้นจะคิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น ซึ่งก็เป็นการคิดบนฐานภาษี Capital Gain จากกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
|