News

ทั่วไป ขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ - กำไร 1

เลขที่หนังสือ : กค 0811/11010
     
วันที่ : 27 ตุลาคม 2542
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา40(4)(ช), มาตรา50(2), มาตรา56
     
ข้อหารือ :

นาย ก ได้ขายหุ้นของบริษัทจำกัดซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ได้กำไรหุ้นละ 30 บาท โดยผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทจำกัดได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0
ของเงินกำไร จึงหารือว่า

1. การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

2. เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปีจะต้องนำเงินได้ดังกล่าว มารวมคำนวณภาษี หรือมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายไว้

     
แนววินิจฉัย :

กำไรที่ได้จากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น

1. ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีที่บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของรายได้จึงไม่ถูกต้อง

2. ผู้มีเงินได้มีหน้าที่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเมื่อสิ้นปี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

     
เลขตู้ :

 62/28463