News

ทั่วไป ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลดทุนของบริษัท

เลขที่หนังสือ : กค 0706/3979
     
วันที่ : 9 พฤษภาคม 2549
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทได้รับเงินจากการลดทุน

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(4)(ง) มาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

1. กรณีบริษัท ก. ได้ลงทุนโดยซื้อหุ้นมาในราคาสูงกว่าราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (ราคา Par) เช่น ได้หุ้นจากการเพิ่มทุนในราคามูลค่าหุ้น + ส่วนเกินมูลค่าหุ้น (ราคา Par + Premium) หรือได้หุ้นมาในราคาตามบัญชี (ราคา Par + Premium + กำไรสะสม) เป็นต้น ต่อมาบริษัทซึ่งเป็นผู้ออกหุ้นดังกล่าวได้ลดทุนด้วยวิธีลดจำนวนหุ้น โดยสถานะของบริษัทฯ ในขณะนั้นมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น กำไรสะสมและเงินสำรองที่กันไว้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ผลขาดทุนจากการลดทุนเนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนค่าหุ้นที่ได้มา บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และถือเป็นรายจ่ายได้เมื่อใด

2. กรณีบริษัทฯ ได้ลงทุนโดยซื้อหุ้นมาในราคาต่ำกว่าราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ เช่น ได้หุ้นมาในราคาตามบัญชี ซึ่งเป็นราคาตามมูลค่าที่ตราไว้หักด้วยขาดทุนสะสม เนื่องจากไม่มีราคาตลาดในขณะนั้น เป็นต้น ต่อมาบริษัทที่ถูกถือหุ้นได้มีการลดทุนด้วยวิธีลดจำนวนหุ้น โดยสถานะของบริษัทในขณะนั้นมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น กำไรสะสมและเงินสำรองที่กันไว้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เงินส่วนเกินจากการลดทุนเนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ ซึ่งสูงกว่าราคาต้นทุนค่าหุ้นที่ได้มา บริษัทฯ ต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อใด

     
แนววินิจฉัย :

1. กรณีบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นลงทุนหรือได้หุ้นมาในราคาสูงกว่าราคาพาร์ ต่อมาบริษัทซึ่งเป็นผู้ออกหุ้นดังกล่าวได้ลดทุนด้วยวิธีลดจำนวนหุ้น บริษัทฯ ต้องนำเงินลดทุนที่ได้รับจากการลดจำนวนหุ้นเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่ากำไรสะสมและเงินสำรองที่กันไว้รวมกันมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 40(4)(ง) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาพาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนค่าหุ้นที่ได้มา ผลขาดทุนจากการลดทุนในกรณีนี้ บริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดีบริษัทฯ สามารถนำผลเสียหายจากการลดทุนที่ได้รับจากการลดจำนวนหุ้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นนั้น

2. กรณีบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นลงทุนหรือได้หุ้นมาในราคาต่ำกว่าราคาพาร์ ต่อมาบริษัทที่ออกหุ้นได้ลดทุนด้วยวิธีลดจำนวนหุ้น โดยบริษัทฯ จะได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาพาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาต้นทุนค่าหุ้นที่ได้มา บริษัทฯ ต้องนำเงินลดทุนที่ได้รับจากการลดจำนวนหุ้น เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่ากำไรสะสมและเงินสำรองที่กันไว้รวมกันมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 40(4)(ง) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินลดทุนเท่ากับราคาพาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาต้นทุนค่าหุ้นที่ได้มา ทำให้มีเงินส่วนเกินจากการลดทุน บริษัทฯ ต้องนำเงินส่วนเกินดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือหลังจากการลดทุนออกไปจริง

     
เลขตู้ :

69/34172