News

ค่าใช้จ่าย ประกัน จ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กรรมการ และ การรับค่าสินไหมทดแทน

เลขที่หนังสือ : กค 0706/7251 
     
วันที่ : 28 มีนาคม 2549
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าภาษี และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (3)(13) มาตรา 40() และมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัท ก. จำกัด ได้มีมติที่ประชุมกำหนดให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไป บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่

2. ค่าภาษีและเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ ออกแทนให้ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการผู้จัดการที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

3. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ บริษัทฯ ต้องนำค่าสินไหมทดแทนหรือเงินได้จากการประกันภัย มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีหรือไม่

4. กรณีตาม 1 ถึง 3 บริษัทฯ มีสิทธินำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หรือไม่ และการจ่ายค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ จะบันทึกบัญชีอย่างไร

     
แนววินิจฉัย :

1. กรณีตาม 1 เงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายแทนกรรมการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้ว รายจ่ายดังกล่าวไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2 เงินค่าภาษีเงินได้ และค่าเบี้ยประกันชีวิตไม่ว่าบริษัทฯ จะเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่บริษัทฯ จ่ายให้กับกรรมการหรือไม่ก็ตาม ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรรมการผู้จัดการต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3 เงินค่าสินไหมทดแทนหรือเงินได้จากการประกันชีวิตที่บริษัทฯ เป็นผู้รับผลประโยชน์ บริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร        

4. กรณีตาม 1 ถึง 3 ใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้เช่นเดียวกัน ส่วนการบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

     
เลขตู้ :

69/34455