News

ค่าใช้จ่าย ประกัน จ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กรรมการ และ ภาษีออกแทน

เลขที่หนังสือ : กค 0811/408
     
วันที่ : 21 มกราคม 2543
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กรรมการผู้จัดการ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (13), มาตรา 65 ตรี (3), (6), (13)
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กรรมการผู้จัดการ ตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ เพื่อเป็นสวัสดิการและการตอบแทนคุณความดีที่บริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จด้วยดีตลอดมา จึงหารือว่า

1. เบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมนี้ หักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่มีข้อจำกัดอย่างไร

2. เบี้ยประกันชีวิตนี้จะถือเป็นรายได้พึงประเมินนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรรมการผู้จัดการหรือไม่ มีข้อจำกัดอย่างไร

3. กรณีที่บริษัทฯ จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดแทนกรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมและเจตนารมณ์ของบริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร

4. เงินสินไหมทดแทนกรณีการสูญเสียชีวิตของกรรมการผู้จัดการ ที่บริษัทฯ ยกให้แก่ครอบครัวหรือทายาท มีภาระภาษีใดมาเกี่ยวข้องบ้าง

5. บริษัทฯ จะบันทึกบัญชีอย่างไร กรณีต่อไปนี้

(1) บริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการผู้จัดการให้บริษัทประกันฯ
(2) บริษัทฯ รับเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีการสูญเสียชีวิตจากบริษัทประกัน
(3) บริษัทฯ ยกผลประโยชน์จากเงินสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวหรือทายาทของกรรมการผู้จัดการ กรณีเสียชีวิต

     
แนววินิจฉัย :

1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อความสะดวกใน
การแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้ จ่ายโดยบริษัท...

2. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินค่าภาษีอากรที่บริษัทฯ ออกให้ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ เพิ่มที่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานจะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

3. เงินค่าภาษีอากรที่บริษัทฯ ออกให้ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

4. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือเงินได้จากการประกันภัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร

5. การบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป

     
เลขตู้ :

63/28838