News

ค่าใช้จ่าย สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลพนักงาน

เลขที่หนังสือ : กค 0706/10504
     
วันที่ : 16 ธันวาคม 2548
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่ารักษาพยาบาล

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ได้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงานเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล โดยระเบียบของบริษัทฯ กำหนดวงเงิน กรณีเจ็บป่วยทั่วไปของพนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 40,000 บาทต่อปี แต่ปรากฏว่า ในบางกรณีค่ารักษามีจำนวนเกิน 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ แต่เนื่องจากพนักงานผู้นั้น เป็นผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทฯ มาเป็นเวลานานและเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานของบริษัทฯเป็นอย่างมาก บริษัทฯ จึงให้ความช่วยเหลือในค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานในส่วนที่มากกว่า 40,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่

2. ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานตามจำนวนที่พนักงานได้จ่ายไปจริงในการรักษาพยาบาล พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 149 (พ.ศ. 2523)ฯ ใช่หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :

1. กรณีบริษัทฯ มีระเบียบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 40,000 บาทต่อปี เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานคนใดเกิน 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ เงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 40,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 

2. ค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4)(ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

     
เลขตู้ :

68/33745