News

DTA ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าตอบแทนภารจำยอม

เลขที่หนังสือ : กค 0706/52
     
วันที่ : 6 มกราคม 2546
     
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าตอบแทนภารจำยอม
     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 39, มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 65 ตรี (5), มาตรา 77/1(10)
     
ข้อหารือ : บริษัท พ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 0001, 0002, 0003 และ 0004  ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี บริษัทฯ ได้ลงทุนพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมี  รายละเอียดดังนี้ 

1. บริษัทฯ ให้บุคคลภายนอกเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 0001, 0002 และ 0003 เป็นการเช่าระยะยาว ซึ่งผู้เช่าได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทฯ จัดสร้างถนนเชื่อมทางเข้าออกด้านพหลโยธินกับด้านถนน รังสิต-ปทุมธานี และนำถนนดังกล่าวไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงที่บริษัทฯ ให้เช่าโดยอนุญาตให้บุคคลภายนอกผ่านถนนดังกล่าวได้โดยไม่คิดค่าตอบแทน 

2. การดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอม กรมที่ดิน แจ้งว่า บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดว่า เจ้าของภารยทรัพย์ และสามยทรัพย์ จะต้องไม่ใช่บุคคลเดียวกัน 

3. บริษัทฯ ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 0004 จำนวน 10 ไร่ เพื่อจัดสร้างถนน โดยได้ให้บริษัทในเครือ (บริษัทถือหุ้นอยู่เกินร้อยละ 60) เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในอัตราส่วน 1 ใน 10 โดยให้  บริษัทในเครือจ่ายค่าตอบแทนการเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมเป็นเงิน 10 ล้านบาท ตามราคาประเมินของกรมที่ดินและนำไปจดทะเบียนภารจำยอมให้ผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 0001, 0002, 0003 และ  บุคคลภายนอกได้ใช้ประโยชน์โดยไม่คิดค่าตอบแทน ณ กรมที่ดิน 

4. บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าตอบแทนจากการใช้ทางภารจำยอมบนที่ดินให้แก่บริษัท ในเครือเป็นเงิน 15 ล้านบาท 

5. บริษัทฯ ลงทุนก่อสร้างถนนบนเนื้อที่ 10 ไร่ ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียว บริษัทฯ หารือว่า 

     1. ราคาที่ดินที่บริษัทฯ ขายให้แก่บริษัทในเครือตามราคาประเมินของกรมที่ดิน จะถือว่าบริษัทฯ โอนทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และหากราคาประเมินกรมที่ดินไม่ใช่ราคาตลาดขอให้ชี้แจงหลักเกณฑ์ในการคำนวณหาราคาตลาดของที่ดิน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป 

     2. ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่บริษัทในเครือเป็นจำนวนเงินเกินกว่าต้นทุนค่าซื้อที่ดิน (จำนวน 15 ล้านบาท) จะถือว่าบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ตรี (15) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และจะถือว่าบริษัทในเครือได้คิดค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่าราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ 

     3. บริษัทในเครือไม่ได้เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจเป็นปกติธุระ บริษัทในเครือจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ หรือไม่ 

     4. ค่าตอบแทนจากการใช้ทางภารจำยอมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทในเครือ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ใช่หรือไม่ 
     5. ค่าตอบแทนการใช้ทางภารจำยอม ผู้รับจะรับรู้เป็นรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจดทะเบียนภารจำยอมทั้งจำนวนได้หรือไม่ และผู้จ่ายเงินจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนใน  รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร 

     6. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนนทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายในการ ก่อสร้างดังกล่าวบริษัทในเครือจะต้องรับรู้เป็นรายได้ (ตามอัตราส่วน 1 ใน 10) ด้วยหรือไม่ และบริษัทฯ จะ นำไปคำนวณหักค่าเสื่อมราคาของถนนที่ก่อสร้างไปตามส่วนของกรรมสิทธิ์ที่ถือครอง (9 ใน 10 ส่วน) ถูกต้องหรือไม่
     
แนววินิจฉัย : 1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริษัทในเครือเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1799 ใน  อัตราส่วน 1 ใน 10 โดยบริษัทในเครือจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 10 ล้านบาท  เพื่อก่อสร้างถนนอำนวยความสะดวกแก่ผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 0001, 0002 และ 0003 และบุคคลภายนอก ไม่เข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้ 

     (1) ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี หรือ ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก หรือ 

     (2) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญาว่า เป็นกิจการร่วมค้า 

     (3) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกันโดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและ  ค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน 

2. กรณีการคำนวณราคาที่ดินที่บริษัทฯ ให้บริษัทในเครือเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต้องคำนวณตามราคาตลาดในวันที่โอนตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำว่า"ราคาตลาด" หมายถึง  ราคาค่าตอบแทนซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า โดยใช้ราคา ณ วันที่โอนที่ดิน ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.113/2545 ฯ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งบริษัทฯ จะ ต้องนำราคาตลาดหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่ามารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 

3. ค่าตอบแทนจากการใช้ทางภารจำยอมที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่บริษัทในเครือถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นการจ่ายค่าบริการที่บริษัทในเครือได้ให้บริการแก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทในเครือมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ บริษัทในเครือ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย  คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 

4. บริษัทในเครือต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทฯ มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าตอบแทนที่จ่ายมาถือเป็น  รายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เพราะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ  มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 

5. กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างถนนบนที่ดินที่มีบริษัทในเครือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่นั้น ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65  ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
     
เลขตู้ : 66/32171