News

DTA ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระหนี้คงค้างระหว่างบริษัทในเครือ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/9958
     
วันที่ : 1 ตุลาคม 2550
     
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระหนี้คงค้างระหว่างบริษัทในเครือ
     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1 มาตรา 80 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ : บริษัท A (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทฯ) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดำเนินธุรกิจจัดหางานในระดับผู้บริหารให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ บริษัทแม่ของบริษัทฯ คือ บริษัท A (บริษัทแม่) มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีบริษัท B (สิงคโปร์) จดทะเบียนและตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ และมีฐานะเป็นสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Regional Office) ทั้งบริษัทแม่ และบริษัท B จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือการดำเนินงาน การรายงานทางการเงิน งานทรัพยากรบุคคล งานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตลาดของบริษัทในเครือA ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ในการประกอบกิจการ บริษัทฯ จะรับคัดสรรบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรของลูกค้า โดยจะสรรหาผู้สมัครหรือบุคคลที่มีคุณสมบัติ และประสบการณ์ทำงานที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนจากลูกค้าตามอัตราที่ตกลงกันไว้แต่จะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ จากผู้สมัคร ขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการคัดสรรผู้สมัคร มีรายละเอียดโดยสรุปดังต่อไปนี้


ขั้นที่ 1 ติดต่อลูกค้า โดยปกติ ลูกค้าของบริษัทฯ จะมาจากการแนะนำของบริษัทในเครือในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือจากการแนะนำจากลูกค้าที่เคยใช้บริการของบริษัทฯ หรือเคยมีประสบการณ์ติดต่อกับบริษัทฯ ดังนั้น การดำเนินงานขั้นที่ 1 คือ การแนะนำลูกค้าให้กันระหว่างบริษัทในเครือ

ขั้นที่ 2 จัดเตรียมสัญญาให้บริการจัดหางาน เมื่อบริษัทฯ รับทราบความต้องการของลูกค้าแล้ว บริษัทฯ จะจัดเตรียมร่างสัญญาให้บริการจัดหางาน เพื่อให้ลูกค้าพิจารณาหากลูกค้าตัดสินใจที่จะใช้บริการของบริษัทฯ ลูกค้าจะลงนามท้ายสัญญาดังกล่าว (งานที่ให้บริการลูกค้าหนึ่งรายสำหรับหนึ่งตำแหน่งงาน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า "Engagement"

หากบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการในขั้นที่ 2 บริษัทฯ จะถือเป็นคู่สัญญาของลูกค้า และจะถือเป็น ผู้เรียกเก็บเงินค่าบริการเต็มจำนวนจากลูกค้า หากบริษัทฯ ได้ขอความช่วยเหลือใด ๆในขั้นตอนอื่น ๆ จากบริษัทในเครือ บริษัทฯ จะต้องปันส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทในเครือนั้น ๆ ตามอัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา


ขั้นที 3 ติดต่อประสานงานกับลูกค้า รวมทั้งสรุปปิด Engagement เป็นขั้นตอนในส่วนของการรายงานความคืบหน้าของงานที่บริษัทดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการจัดตารางเวลา กำหนดวันนัดสัมภาษณ์ระหว่างลูกค้าและผู้สมัคร เจรจาต่อรองเงินเดือนรวมทั้งผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้สมัครงานจะได้รับหากได้รับการจ้าง รวมทั้งสรุปปิด Engagement อนึ่งผลสำเร็จของงานในขั้นที่ 3 จะถือเป็นผลสำเร็จของงานขั้นสุดท้ายของ Engagement

ขั้นที่ 4 ติดต่อประสานงานกับผู้สมัครงาน งานขั้นที่ 4 จะดำเนินไปพร้อม ๆกับงานขั้นที่ 3 โดยเป็นงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัครงาน ซึ่งบริษัทฯ จะทำการสรรหาผู้สมัครจากกลุ่มเป้าหมาย สัมภาษณ์ผู้สมัครที่คัดสรรไว้ จัดทำรายงานประวัติของผู้สมัคร พร้อมข้อคิดเห็นของบริษัทฯ ที่มีต่อผู้สมัคร รวมทั้งทำการติดต่อประสานงานกับทั้งลูกค้า และผู้สมัครงานจนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาจ้างงาน อนึ่ง การเซ็นสัญญาจ้างงานถือเป็นผลสำเร็จของงานในขั้นที่ 4 และก่อนการปิด Engagementในขั้นที่ 3

อัตราส่วนของการปันส่วนรายได้โดยประมาณ มีดังต่อไปนี้

 ขั้นที่  1  10%     ขั้นที่  3 40%
 ขั้นที่  2  10%     ขั้นที่  4 40%


ในการให้บริการ บริษัทฯ และบริษัทในเครือในประเทศต่าง ๆ จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการหาลูกค้า รวมทั้งสรรหา และคัดเลือกผู้สมัครงาน โดยการให้ความช่วยเหลือข้างต้นจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทฯ และบริษัทในเครือในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

1. รายการระหว่างกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงาน Engagement

     1.1 ส่วนแบ่งรายได้เนื่องจากการให้บริการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Engagement ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

          1.1.1 กรณีบริษัทฯ มีรายได้ ซึ่งได้แก่ กรณีที่ในการดำเนินงานในขั้นที่ 2 บริษัทในเครือเป็นคู่สัญญากับลูกค้าในการให้บริการจัดหาผู้สมัครงาน แล้วมอบหมายหรือแบ่งงานในขั้นตอนอื่น ๆ ให้บริษัทฯ ดำเนินการแทน บริษัทฯ จึงเรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้สำหรับการให้บริการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Engagement จากบริษัทในเครือ

          1.1.2 กรณีบริษัทฯ มีรายจ่าย ซึ่งได้แก่ กรณีที่บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินงานในขั้นที่ 2 กล่าวคือ บริษัทฯ เป็นคู่สัญญากับลูกค้าตามสัญญาให้บริการจัดหาผู้สมัครงานแต่บริษัทฯมอบหมายหรือแบ่งงานในขั้นตอนอื่น ๆ ให้บริษัทในเครือดำเนินงานแทนและบริษัทในเครือจะเรียกเก็บค่าบริการจากส่วนแบ่งรายได้ที่เกี่ยวข้องกับ Engagement จากบริษัทฯ

     1.2 เงินทดรองสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่พนักงานของบริษัทในเครือ และเงินทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั่วไป อาทิเช่น ค่าประชุมวีดีโอทางจอภาพของผู้สมัครกับลูกค้าในบางโอกาส บริษัทในเครืออาจร้องขอให้พนักงานของบริษัทฯ ไปช่วยเหลืองาน Engagement ที่ต้องทำร่วมกันในต่างประเทศอาทิเช่น สัมภาษณ์ผู้สมัครงานในประเทศนั้น ๆ และบริษัทในเครือ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือการขอ ให้บริษัทฯ จัดการประชุมวีดีโอทางจอภาพของผู้สมัครที่อยู่ในประเทศไทยกับลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศเป็นต้น โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากบริษัทในเครือ และบริษัทในเครือ จะเรียกเก็บจากลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม บริษัทฯ อาจร้องขอให้บริษัทในเครือช่วยดำเนินการจัดประชุมวีดีโอทางจอภาพของผู้สมัครงานที่อยู่ในต่างประเทศกับลูกค้าของบริษัทฯ ที่อยู่ในประเทศไทย บริษัทในเครือก็จะออกเงินทดรองไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากบริษัทฯ อีกทีหนึ่ง

     1.3 เงินทดรองค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้สมัครหากผู้สมัครมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปสัมภาษณ์งานกับลูกค้าในอีกประเทศหนึ่ง บริษัทฯหรือบริษัทในเครือที่เป็นผู้ดำเนินงานในขั้นที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและจะเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากลูกค้าตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สมัคร กลุ่มบริษัท A มีนโยบายการจ่ายเงินค่าเดินทางให้แก่ผู้สมัครตามภูมิลำเนาของผู้สมัคร โดยผู้สมัครมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ประเทศใดก็ให้เบิกค่าใช้จ่ายข้างต้นจากบริษัท A ในประเทศนั้น ๆ และหากบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ดำเนินการขั้นที่ 2 แต่ได้ออกเงินทดรองค่าเดินทางให้แก่ผู้สมัครที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว บริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินดังกล่าวจากบริษัทในเครือที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว และบริษัทฯ จะบันทึกเงินทดรองรายจ่ายนี้เป็นบัญชีลูกหนี้บริษัทในเครือ

2. รายการระหว่างกันประเภทอื่น ๆ

     2.1 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่พนักงานเพื่อการประชุมระดับผู้บริหารและ/หรือการฝึกอบรมในต่างประเทศ กลุ่มบริษัท A จะจัดให้มีการประชุมระดับผู้บริหารหรือฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งพนักงานระดับผู้บริหารของบริษัทฯจะต้องเข้าร่วมการประชุมหรือฝึกอบรมดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันและให้บริการแก่ลูกค้า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ค่ารถจากบ้านไปสนามบิน ค่าภาษีสนามบิน ค่าทางด่วนค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทางในต่างประเทศ ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าซักรีด ค่าห้องประชุม และอื่น ๆ โดยบริษัท A (สิงคโปร์) ซึ่งมีฐานะเป็นสำนักงานภูมิภาค จะทำหน้าที่รวบรวมค่าใช้จ่ายในการประชุมหรือฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และปันส่วนค่าใช้จ่ายกลับคืนมาให้แต่ละประเทศตามจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมหรืออบรมที่แต่ละประเทศส่งไปเข้าร่วมประชุม

     2.2 เงินทดรองค่าใช้จ่ายทั่วไป (ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Engagement) ในบางโอกาส บริษัทฯ ได้จ่ายเงินทดรองค่าใช้จ่ายทั่วไปแทนบริษัทในเครือ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการ Engagement (ค่าใช้จ่ายในการบริหาร) อาทิเช่นค่าตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศของพนักงานบริษัทในเครือที่มาจากต่างประเทศ และบริษัทฯ จะเรียกเก็บจากบริษัทในเครือในภายหลัง

     2.3 มูลค่าหุ้นของบริษัทแม่ ซึ่งบริษัทฯจะซื้อจากบริษัทแม่เพื่อแจกเป็นรางวัลตอบแทนแก่พนักงานในระดับผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่น


     2.4 ค่าใช้จ่ายของพนักงานชาวต่างชาติประจำประเทศไทย ที่ทำงานทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ พนักงานชาวต่างชาติดังกล่าว จะทำสัญญาจ้างงานกับทั้งบริษัทฯ และบริษัท A สิงคโปร์ฯ เพื่อแบ่งเวลาการทำงานในประเทศไทย และประเทศสิงคโปร์ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยบริษัท A (สิงคโปร์) จะเป็นผู้จ่ายเงินเดือน โบนัส และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ทั้งหมดและเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทฯ สำหรับช่วงเวลาที่พนักงานดังกล่าวทำงานอยู่ในประเทศไทย บริษัทฯ จะนำรายได้ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงานที่ได้รับระหว่างที่ทำงานในประเทศไทยไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายทุกเดือน

     2.5 ค่าบริหารและการจัดการ เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัท A (สิงคโปร์) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้การสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือในการเดินงานของกลุ่มบริษัท A ในภูมิภาคเอเชีย โดยบริษัท A(สิงคโปร์) จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหากมีการให้บริการกับบริษัทฯ ดังต่อไปนี้

          2.5.1 ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของสำนักงานภูมิภาคเงินเดือน โบนัส และค่าใช่จ่ายในการบริหารของพนักงานประจำสำนักงานภูมิภาคในการบริหาร การเงิน ทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการตลาด โดยพนักงานเหล่านี้ จะให้ความช่วยเหลือทั่วไปด้านการบริหารงาน เป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุนงานในหน้าที่ต่าง ๆ ของบริษัทในเครือในประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียโดยหลักเกณฑ์ในการปันส่วนค่าใช้จ่าย จะคิดตามจำนวนชั่วโมงทำงาน (จำนวนวัน) ที่พนักงานเหล่านั้นทำงานให้กับประเทศนั้น ๆ

          2.5.2 ค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกิดจากการให้บริการเฉพาะอย่างสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้จัดการแผนกการเงินที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือแก่พนักงานบัญชีที่ประเทศไทยในเรื่องของงานบัญชีเกี่ยวกับการชำระหนี้ระหว่างบริษัทในเครือ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวทางสำนักงานภูมิภาคจะถือเป็นส่วนหนึ่งของ Management Feeและเรียกเก็บจากบริษัทฯ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

บริษัทฯ ขอหารือว่า

1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับ Engagement และค่าบริหารและจัดการให้กับบริษัท A (สิงคโปร์) หรือบริษัทในเครือ จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินประเภทอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Engagement ให้กับบริษัท A (สิงคโปร์) หรือ บริษัทในเครือ จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร
     
แนววินิจฉัย : 1. กรณีรายการระหว่างกันที่เกี่ยวข้องกับ Engagement

     ก. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ มีรายได้

งานขั้นที่ 1 กรณีบริษัทฯ แนะนำให้ลูกค้าในประเทศไทย ได้มีโอกาสรู้จัก และใช้บริการของบริษัทในเครือในต่างประเทศ และได้รับค่าตอบแทน นั้น ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่านายหน้าในการหาลูกค้าในประเทศไทย แม้ผู้รับบริการอยู่จะอยู่ในต่างประเทศสัญญาจัดหาผู้สมัครงานเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่วัตถุประสงค์ และสาระสำคัญของการให้บริการของบริษัทฯเสร็จสิ้นลงแล้วในประเทศไทย ดังนั้น การให้บริการของบริษัทฯจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมดแต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

งานขั้นที่ 3 และ 4 กรณีบริษัทฯ ได้รับมอบหมายงานในขั้นที่ 3 และ/หรือขั้นที่ 4เนื่องจากตำแหน่งงานที่ลูกค้าต้องการอยู่ในประเทศไทย นั้น แม้ในการให้บริการทั้งสองขั้นตอนบริษัทฯ จะส่งจดหมายโต้ตอบกับบริษัทในเครือหรือลูกค้าในต่างประเทศ รายงานความคืบหน้าของงานรายงานประวัติผู้สมัครพร้อมข้อคิดเห็น เป็นต้น กลับไปยังต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของการให้บริการ คือการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ลูกค้าต้องการในประเทศไทยจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

     ข. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ มีรายจ่าย

งานขั้นที่ 1 การแนะนำลูกค้าในต่างประเทศโดยบริษัทในเครือ เพื่อให้ใช้บริการของบริษัทฯ ในประเทศไทย หากการให้บริการของบริษัทในเครือได้สิ้นสุดลงในต่างประเทศกรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรไม่ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

งานขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 กรณีผู้สมัครงานกลุ่มเป้าหมายพำนักอยู่ในต่างประเทศ บริษัทฯ จะมอบหมายให้บริษัทในเครือปฏิบัติหน้าที่ในขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 แต่โดยที่บริษัทในเครือจะต้องส่งผลสำเร็จของงานทั้งสองขั้นมาให้บริษัทฯ และบริษัทฯ จะสรุปผลงานทั้งหมดให้กับลูกค้าในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง การให้บริการของบริษัทในเครือ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.36 ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร

     ค. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินทดรองสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่พนักงานของบริษัทในเครือ และเงินทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั่วไป ตาม 1.2 และเงินทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับผู้สมัครงานตาม 1.3

หากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ จ่ายแทนบริษัทในเครือ และมีหลักฐานการจ่ายเงินระบุชื่อบริษัทในเครือเป็นผู้จ่ายเงินทดรองที่เรียกเก็บคืนเท่าที่จ่ายจริง ไม่ถือเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทในเครือ และไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

     ง. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย การดำเนินงานในขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3โดยบริษัทในเครือ ตามการร้องขอของบริษัทฯ เมื่องานตามขั้นตอนต่าง ๆ เสร็จสิ้นลง บริษัทฯ มีหน้าที่ในการปันส่วนค่าบริการ และจ่ายให้กับบริษัทในเครือ เงินค่าบริการที่บริษัทฯ จ่ายให้กับบริษัทในเครือเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากรหากบริษัทในเครือตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย เงินค่าบริการดังกล่าว อาจเข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจหากบริษัทในเครือมิได้เข้ามาดำเนินงานผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยบริษัทในเครือไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กับบริษัทในเครือ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีรายการระหว่างกันประเภทอื่น ๆ

     ก. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมระดับผู้บริหาร และ/หรือการอบรมในต่างประเทศ ตาม 2.1 โดยบริษัท A (สิงคโปร์) จะเป็นผู้รวบรวมและปันส่วนค่าใช้จ่ายมายังบริษัท A ในแต่ละประเทศที่ส่งพนักงานเข้าประชุม หากการประชุมหรือการอบรมจัดขึ้นในต่างประเทศ เงินค่าประชุม หรือค่าฝึกอบรม รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่บริษัท A (สิงคโปร์) เรียกเก็บเข้าลักษณะเป็นบริการที่บริษัท A (สิงคโปร์) มีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และบริษัทฯได้ใช้บริการประชุมหรืออบรมในต่างประเทศ โดยมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการดังกล่าวให้กับ บริษัท A (สิงคโปร์) บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในทางตรงกันข้าม หากการประชุมหรือการอบรมได้จัดให้มีขึ้นในประเทศไทยกิจกรรมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่เข้ามาให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการให้บริษัท A (สิงคโปร์) บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท A สิงคโปร์ฯ มีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร

     ข. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าหุ้น กรณีที่บริษัทฯชำระมูลค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัทแม่ เข้าลักษณะเป็นการนำเงินไปหาประโยชน์ โดยการซื้อหลักทรัพย์ ตามมาตรา 77/1(10)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

     ค. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้จ่ายของพนักงานชาวต่างชาติประจำประเทศไทยตาม 2.4 เนื่องจากทั้งบริษัทฯ และบริษัท A (สิงคโปร์) มีฐานะเป็นนายจ้างของพนักงานชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนั้น หากสัญญาจ้างงานทั้งสองฉบับมีการแบ่งส่วนความรับผิดชอบของงานออกจากกันอย่างชัดเจน และเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานในแต่ละประเทศ เงินเดือน โบนัส และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ทั้งหมด ที่จ่ายโดยบริษัท A (สิงคโปร์) และบริษัท A (สิงคโปร์) เรียกเก็บจากบริษัทฯ ตามส่วนที่จ่ายทดรองไปก่อน จึงไม่เข้าลักษณะการขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้กับบริษัท A (สิงคโปร์) บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท A (สิงคโปร์) ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

     จ. ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าบริหารและจัดการ ตาม 2.5 ค่าตอบแทน ที่บริษัท A (สิงคโปร์) ในฐานะ เรียกเก็บจากบริษัทฯ ตาม OFFSHORE MANAGEMENT SERVICES AGREEMENT เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่บริษัท A (สิงคโปร์) บริหารจัดการให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมทั้ง การฝึกอบรมพนักงานของบริษัทฯ โดยจะมีทั้งกรณีที่บริษัท A (สิงคโปร์) ส่งพนักงานประจำสำนักงานภูมิภาคเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ หากการให้บริการดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลใด ๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยีหรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์การให้บริการดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างโดยทั่วไปค่าตอบแทนการให้บริการตามสัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากบริษัท A สิงคโปร์ฯ ได้ให้บริการโดยไม่ผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ย่อมได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยสำหรับค่าตอบแทนดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้บริษัท A (สิงคโปร์) จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินแต่อย่างใด และกรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้บริษัท A (สิงคโปร์) ค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ : 70/35349