News

คลังเข้มรีดภาษีคนรวย ปรับขึ้นเพดานสูงสุด-อุดรูรั่วคณะบุคคล ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

จากวิสัยทัศน์ “ระบบงานมาตรฐานสากล เพื่อบริการประชาชน และเก็บภาษีทั่วถึง เป็นธรรม” กรมสรรพากรได้มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการผู้เสียภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากร ซึ่งกรมสรรพากรได้นำ เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการให้บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ต โดยผู้เสียภาษีนอกจากจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ กรมสรรพากรยังได้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เฉพาะการัฐบาลเดินหน้าจัดระเบียบโครงสร้างภาษีทั้งระบบ “กิตติรัตน์” ลั่นได้ข้อสรุปชัดเจนภายในกลางปีนี้ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รื้อข้อเสนอ “กรมสรรพากร” ชูนโยบายรีดภาษีคนรวย ศึกษาแนวทางการขยับขึ้นเพดานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 37% พร้อมรื้อเกณฑ์การยื่นเสียภาษีของ “คณะบุคคล” ปิดช่องโหว่

 

สั่งศึกษาปรับขึ้นเพดานภาษีคนรวย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวมทั้งที่กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเสนอกันเข้ามา โดยคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปให้ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น หลักสำคัญที่จะพิจารณา คือการคำนึงถึงการกระจายรายได้ และจากที่มีข้อเสนอเรื่องการปรับลดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากปัจจุบันอยู่ที่ 37% ลงมานั้น ตนไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะเป็นส่วนของคนที่มีรายได้สูงหรือคนรวย ซึ่งน่าจะมีการปรับเพิ่มมากกว่า

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้เสียภาษีเงินได้บุคคธรรมดา 37% คือผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป

 

“ผมไม่สนับสนุนถ้าจะไปลดบันไดภาษีของคนระดับบน แต่ว่าถ้าจะลดบันไดภาษีของคนล่าง ๆ กลาง ๆ ก็น่าสนใจ ก็ต้องดูให้รอบคอบ ที่เสนอมาผมก็ซักไซ้ไล่เลียงตัวเลข ว่าปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีรายได้แต่ละระดับเป็นอย่างไร อีกประเด็นก็คือเรื่องความซับซ้อนในการคิดหรือหักลดหย่อนต่าง ๆ ก็เห็นว่าควรจะซับซ้อนน้อยลง อย่างบางประเภทก็ลดหย่อนได้ 1 เท่า บางประเภทก็ได้ 2 เท่า หรืออย่างเรื่องจะให้สามี ภรรยา แยกยื่นหรือยื่นรวม มันสลับซับซ้อน อยากให้ keep it simple หรืออย่างเรื่องคณะบุคคลทำไมปล่อยให้เสียรู้คนเปล่า ๆ” นายกิตติรัตน์กล่าว

 

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่องค์กรสาธารณกุศลที่พิสูจน์ได้ว่าทำประโยชน์เพื่อสังคมจริง ๆ เป็นลักษณะการเปิดกว้างโดยเร็ว เนื่องจากมองว่าองค์กรเหล่านี้มีความคล่องตัวสูงในการช่วยเหลือสังคม ถ้าเปิดโอกาสให้มีบทบาทมากขึ้นจะทำให้ประเทศได้รับการดูแลจากคนกลุ่มที่มีความคล่องตัว เพราะรัฐจะมีขั้นตอนมาก ล่าช้า

 

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ในขณะที่กำลังจะเกิดการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาก็ต้องให้สอดรับ และต้องคำนึงถึงการที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย เพราะจะช่วยพัฒนาบุคลากรระดับกลางหรือระดับบริหารให้เก่งขึ้นได้ เพราะหากภาษีไม่จูงใจก็เป็นอุปสรรคในการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศ

 

ปักธงกลางปีภาษีทั้งหมดจะมีข้อสรุป

 

“ภายในครึ่งปี ทุกอย่างจะออกมาชัดเจน เพราะเวลาเราพูดถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะพูดถึงปีปฏิทิน ดังนั้นถ้าช้ากว่าครึ่งปีแรกไปก็จะไม่ค่อยดีนัก เผื่อประชาชนจะได้ไปตัดสินใจบริจาค หรือวางแผนอะไร ซึ่งก็อยากเร่งให้เสร็จ” นายกิตติรัตน์กล่าว

 

ขณะที่ภาษีอื่น ๆ ที่พิจารณาอยู่ ยังมีเรื่องภาษีสรรพสามิต ไม่ว่าจะเป็นภาษีรถยนต์ ภาษีสุรา หรือภาษียาสูบ ซึ่งมีความท้าทายเกิดขึ้นจากผู้ที่มีความพยายามเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ประเด็นเรื่องการแจ้งราคาต้นทุน ที่เป็นราคาซีไอเอต่ำ ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ ดังนั้นจึงปล่อยปละละเลยไม่ได้ อย่างเช่น กรณีบุหรี่ที่มีการแจ้งราคาต่ำ จนนำไปสู่การเป็นข้อพิพาท รวมถึงรถยนต์นำเข้าที่มีการแจ้งสำแดงราคาต่ำ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาภาษีสินค้าที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เหมาะสมด้วย

 

“รายละเอียดพวกนี้สำคัญ บางเรื่องถ้าไม่หารือเอกชนเลยก็อาจจะพลาด แต่บางเรื่องถ้าหารือก็อาจถูกเขาตุ๋น ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้ครบ ว่าต่างประเทศเขาทำอย่างไร อย่างเรื่องรถยนต์ เราต้องการให้อัตราภาษีไปหนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย แต่โดยสภาพก็ต้องแน่ใจว่าไม่เกิดช่องโหว่ ไม่เกิดศรีธนญชัย ไม่เกิดการใช้สิทธิ์ที่ไม่สมควร แต่ไม่ช้า” นายกิตติรัตน์กล่าว

 

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปีนี้ลดเหลือ 23% และปีหน้าจะลดเหลือ 20% ซึ่งที่ผ่านมามีคนตีความว่าจะเด้งกลับไป 30% โดยตนยืนยันว่าจะไม่กลับไปที่ 30% เพราะจะมีการเสนอแก้ พ.ร.บ.เพื่อกำหนดเป็นอัตราถาวร รวมถึงขณะนี้ก็ยิ่งมีความมั่นใจ เพราะแม้ว่าจะมีการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงมาอยู่ที่ 23% แต่รัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น

 

“พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงว่าอัตราที่ลดลงทำให้ขยายฐานภาษีได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะกำหนดอัตรา ต้องเทียบเคียงกับประเทศคู่แข่งและคู่ค้าด้วย ในอดีตเราถือเป็นประเทศที่ภาษีสูงในอาเซียน ตอนนี้ถือว่าลงมาอยู่ในระดับที่เข้ากลุ่ม เช่น สิงคโปร์ อยู่ที่ 17% มาเลเซีย 25% และผมเชื่อว่า 2 ประเทศนี้ จะแสวงหาทางที่จะกำหนดอัตราภาษีที่จะลดลงมา เมื่อเห็นว่าเราลดเหลือ 20%” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังกล่าว

 

รื้อเกณฑ์ “คณะบุคคล” ปิดรูรั่วภาษี

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้นำแนวทางปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเสนอนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง รับทราบเบื้องต้นเป็นครั้งแรก หลังจากศึกษาเสร็จ โดยเป็นการเสนอทางเลือกไปหลาย ๆ ทาง เพื่อให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเคาะตัวเลขอะไรออกมา

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะมีการดำเนินการแน่นอน คือ การให้สามี ภรรยาสามารถแยกยื่นแบบชำระภาษีได้ทุกรายการ จากเดิมให้แยกได้เฉพาะเงินเดือน โดยกฎหมายเดิมกำหนดว่า เงินได้ของภรรยาต้องนับรวมเป็นเงินได้ของสามี ทำให้คำนวณออกมาแล้วต้องเสียภาษีมาก เพราะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งการให้แยกยื่นจะทำให้ภาระภาษีลดลง และน่าจะส่งผลต่อรายได้ของกรมสรรพากรประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การปรับอัตราภาษีโดยกำหนดขั้นบันไดภาษีให้ถี่ขึ้นนั้น แนวทางที่กรมสรรพากรเสนอไป คือ จะปรับขั้นให้เพิ่มขึ้นทีละ 5% โดยเริ่มจาก 5% ขึ้นเป็น 10%, 15%, 20%, 25% ไปเรื่อย ๆ แต่อัตราสูงสุดยังไม่ได้สรุปว่าจะลดลงจาก 37% เหลือ 35% หรือไม่

   

นอกจากนี้ที่ผ่านมาทาง รมช.คลังก็ได้มีนโยบายให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หากจะมีการปรับอัตราเพดานสูงสุดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดว่าจะปรับขึ้นเป็น 40% เพราะต้องพิจารณารายละเอียดผลกระทบทั้งหมดให้รอบคอบ

 

“ตามแนวทางที่กรมเสนอไป ก็จะทำให้ทุกคนมีภาระภาษีลดลง เช่น ปกติเงินได้สุทธิไม่เกิน 1.5 แสนบาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากเกินกว่านั้นก็จะเริ่มเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันจะเสียอยู่ที่อัตรา 10% ก็จะเริ่มต้นที่ 5%” แหล่งข่าวกล่าว

  

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการกำหนดเพดานวงเงินหักลดหย่อนรวม จากเดิมที่ไม่มีกำหนดเพดานสูงสุดเอาไว้ ทางกรมสรรพากรก็ได้เสนอไปหลายวงเงิน เช่น 7 แสนบาท, 8 แสนบาท และ 9 แสนบาท พร้อมข้อมูลผลกระทบในแต่ละกรณีเพื่อให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุด

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การเสนอปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลังจากนี้ คงทยอยไปทีละเรื่อง โดยเรื่องแรกคือ การแยกยื่นภาษีของสามีภรรยา ขณะเดียวกันก็มีเรื่องคณะบุคคล ก็จะปรับแก้ไขให้ผู้ที่ร่วมเป็นคณะบุคคล ต้องนำรายได้มาคำนวณกับรายได้ปกติ เพื่อยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายบุคคลด้วย ซึ่งเดิมกฎหมายระบุว่า รายได้ของผู้ที่ร่วมจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคล เพื่อประกอบธุรกิจใด ๆ ให้แยกยื่นเสียภาษีกับรายได้ปกติ ส่งผลให้ภาระภาษีลดลง ทำให้มีการไปจัดตั้งคณะบุคคลกันมากในช่วงที่ผ่านมา

 

ยกเว้นภาษีเงินได้หวยบนดิน

 

นอกจากนี้นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างยกร่างราชกฤษฎีกา เพื่อยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากตัวแทนจำหน่ายสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับความเห็นชอบจากนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนถัดไป กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้ หากไม่มีการยกเว้น กรมสรรพากรจะต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษีหวยบนดินย้อนหลัง เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำตัดสินว่า หวยบนดินผิดกฎหมาย ทำให้จะต้องมีการเสียภาษีที่เกิดขึ้นจากการจำหน่าย ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งกรมสรรพากรมองว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากตัวแทนจำหน่าย ไม่เป็นธรรม เพราะเดิมไม่ได้มีการระบุว่า ผู้จำหน่ายต้องเสียภาษี จึงไม่ใช่ความผิดของผู้จำหน่ายหวยบนดินในอดีต ซึ่งหากผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ผู้จำหน่ายก็สามารถมายื่นขอเงินภาษีคืนได้ แต่ตอนนี้คงต้องจ่ายไปก่อนตามกำหนด