นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวการจับกุมผู้กระทำความผิดในการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกับ พล.ต.ต.ภูมิรา วัฒนปาณี รอง ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ว่าจากการที่กรมสรรพากร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สืบทราบว่ามีการขายใบกำกับภาษีทางเว็บไซต์ Market.mthai.com/product/1292893 และเว็บไซต์ www.siamshop.com/product -1438583 โดยทั้ง 2 เว็บไซต์ระบุผู้ติดต่อทางอีเมล์ คือ tanakon 2005@gmail.com
จึงได้สืบสวนจนทราบว่าเจ้าของเว็บไซต์ ดังกล่าว คือนายธนกฤษ ฮีลี่ พบว่ามีพฤติกรรมกระทำผิดโดยการออกใบกำกับภาษี และไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง ทั้งนี้ ได้มีการล่อซื้อใบกำกับภาษีดังกล่าว พบว่านายธนกฤษมีพฤติการณ์กระทำผิดโดยการออกใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากร และเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม โดยติดต่อซื้อใบกำกับภาษีมูลค่า 2.6 ล้านบาทเศษ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2555 สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ พบมูลค่าของ ใบกำกับภาษีปลอมรวมทั้งหมด 400 ล้านบาท ซึ่งทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ไป 30 ล้านบาท โดยบริษัทที่ซื้อใบกำกับภาษีปลอมได้เลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท
"จากการตรวจค้นในบ้าน และรถยนต์ของนายธนกฤษ พบใบกำกับภาษีอีกจำนวนหนึ่งที่เตรียมนำไปขายให้ผู้ติดต่อซื้อรายอื่น พร้อมกันนี้ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ เอกสาร และหลักฐาน ที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวนหลายรายการ ซึ่งกรมจะร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลไปยังเครือข่ายของการกระทำผิดต่อไป" นายสาธิตกล่าว
สำหรับการจับกุมการปลอมใบกำกับภาษีในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา จับกุมได้กว่า 10 ครั้ง และมีการขยายผลจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้กว่า 1,000 ราย รวมมูลค่าของใบกำกับภาษีปลอม 8,888 ล้านบาท ทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้จากแวต 669 ล้านบาท และกระทบต่อภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่บริษัทซื้อไปเลี่ยงจ่ายจากการซื้อใบกำกับภาษีปลอม 2,654 ล้านบาท ทำให้ทั้งปีสรรพากรสูญรายได้ 3,323 ล้านบาท โดยบริษัทที่ซื้อใบกำกับภาษีปลอมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทสิ่งทอ รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และเป็นคดีอาญาที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและมีโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี ปรับ 2,000-200,000 บาทต่อใบ ทั้งนี้ ยังมีอีก 3-4 บริษัทที่สืบทราบว่ามีการปลอมใบกำกับภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ในช่วงการตรวจสอบ เพื่อขยายผลในการจับกุม ทั้งนี้อยากฝากถึง ผู้ที่ประกอบธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต (อี-คอมเมิร์ซ) ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และไม่ยอมมาเสียภาษีว่าอยากให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยให้ชำระภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งถ้าหากกรมสรรพากรมีการตรวจสอบและดำเนินคดี จะทำให้เยาวชนเหล่านี้เสียโอกาสทางอนาคต
|