News

หัก ณ ที่จ่าย - การขาย แจกสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย

เลขที่หนังสือ : กค 0706/1154
     
วันที่ : 7 กุมภาพันธ์ 2550
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแจกสินค้าเพื่อส่งเสริมการขายและการโฆษณา

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8)(9)(10) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
     
ข้อหารือ :

บริษัท บ. เป็นเจ้าของชื่อและเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ ได้มีการส่งเสริมการขายและ โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ตามข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ จะต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

   
1. กรณีการแจกสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย
     
  1.1 กรณีบริษัทฯ แจกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้กับลูกค้าโดยตรงในแต่ละรายจำนวน เท่ากันและบางรายจำนวนไม่แน่นอน ให้ประจำทุกเดือนหรือตามแต่ร้องขอ หรือแจกสินค้าดังกล่าว ให้กับภัตตาคาร สวนอาหาร หรือร้านค้า เพื่อให้ทำการส่งเสริมการขายแทนบริษัทฯ หรือแจกสินค้า ให้ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง
     
  1.2  กรณีลูกค้าย่อยในต่างจังหวัดจัดงาน และบริษัทฯ ได้ขอยืมผลิตภัณฑ์ของผู้แทน จำหน่ายในจังหวัดนั้นๆ ให้ลูกค้าย่อย และภายหลังบริษัทฯ ได้คืนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้แทนจำหน่าย
     
  1.3  กรณีบริษัทฯ แจกสินค้า เช่น หมวก เสื้อ พวงกุญแจ เป็นต้น ให้แก่ผู้แทนจำหน่าย และผู้แทนจำหน่ายนำไปแจกให้แก่ลูกค้าย่อย
     
2. กรณีบริษัทฯ ให้อุปกรณ์หรือสินค้าแก่บริษัทต่างๆ เพื่อจัดงาน หรือเพื่อใช้ในการประกอบการ ถ่ายทำภาพยนตร์ โดยแลกเปลี่ยนกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ ของบริษัทฯ
   
3. กรณีบริษัทฯ ให้เงินหรือสินค้าแก่ส่วนราชการ เอกชน สถานศึกษา หรือบุคคลทั่วไป โดยบริษัทฯ ได้ลงรายการทางบัญชี เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชื่อและเครื่องหมายการค้า
     
แนววินิจฉัย :
1. ตามข้อ 1.1 บริษัทฯ แจกสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมการขาย ให้แก่ผู้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เว้นแต่ การแจกสินค้า เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการ ที่นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะ นำไปขายต่อ ไม่อยู่ ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร
   
2. ตามข้อ 1.2 บริษัทฯ ยืมผลิตภัณฑ์ของผู้แทนจำหน่ายให้ลูกค้าย่อย และภายหลังบริษัทฯ ได้คืน ผลิตภัณฑ์ให้กับผู้แทนจำหน่าย เข้าลักษณะเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ตามมาตรา 650 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการขายสินค้า ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด และเมื่อบริษัทฯ คืนผลิตภัณฑ์ ให้แก่ผู้แทนจำหน่าย ถือได้ว่าผู้คืนโอนกรรมสิทธิ์ในผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ให้ยืม ถือเป็นการขายสินค้า จึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกัน และเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ให้ยืมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีสิทธิเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ยืม ตามมาตรา 82(1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร การคืนผลิตภัณฑ์ก็ เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทฯ คืนผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้แทนจำหน่าย เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีสิทธิเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้แทนจำหน่าย ตามมาตรา 82(1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ผู้ขายต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ ตามมาตรา 78 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. ตามข้อ 1.3 บริษัทฯ แจกสินค้า เช่น หมวก เสื้อ พวงกุญแจ เป็นต้น ให้แก่ ผู้แทนจำหน่ายและ ผู้แทนจำหน่ายนำไปแจกให้แก่ลูกค้าย่อย มีภาระการหักภาษี ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับ ข้อ 1.1 อย่างไรก็ตาม หากการแจกสินค้าหรือให้ของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียม ประเพณี เฉพาะมูลค่าของสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะ ทำนองเดียวกัน ของขวัญของชำร่วยที่มีชื่อ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ ปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและต้อง มีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
   
4. ตามข้อ 2. และข้อ 3. บริษัทฯ ให้อุปกรณ์หรือสินค้าแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างๆ เพื่อจัดงานหรือเพื่อใช้ในการประกอบการถ่ายทำภาพยนตร์โดยแลกเปลี่ยนกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และการที่บริษัทฯ ให้เงินหรือสินค้าแก่ผู้รับ โดยบริษัทฯ ได้ลงรายการทางบัญชีเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชื่อและเครื่องหมายการค้า เข้าลักษณะเป็นการจ่าย เงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าโฆษณา บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าโฆษณาให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้ นิติบุคคลมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 2.0 ตามข้อ 10 ของ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวล รัษฎากร สำหรับภาษีซื้อที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ให้บริการโฆษณา ภาษีซื้อดังกล่าวบริษัทฯ มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

70/34773