News

รายได้ การจัดเก็บภาษีของนักแสดงและนักกีฬาต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/8976
     
วันที่ : 30 ตุลาคม 2552
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจัดเก็บภาษีของนักแสดงและนักกีฬาต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มาตรา 42(1) และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบกิจการจัดการแสดงจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งการจัดคอนเสิร์ตทั่วไป การแสดงละครเวที และการจัด แข่งขันเทนนิส บริษัทฯ หารือว่า

 

1. กรณีที่บริษัทฯ จ้างนักแสดงละครเวที ซึ่งมีสัญชาติอเมริกัน เข้ามาแสดงละครเวทีในประเทศไทย หากนักแสดง ผู้นั้นมีเงินได้ไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐในปีภาษีนั้น นักแสดงผู้นั้นได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย และ ผู้จ่ายค่าจ้างไม่มีภาระที่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 19 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่ง สหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ถูกต้องหรือไม่
     
2. กรณีที่บริษัทฯ จ้างนักกีฬาต่างประเทศหรือนักแสดงต่างประเทศเข้ามาแสดงในประเทศไทย โดยสัญญาจ้าง กำหนดให้บริษัทฯ จัดหาที่พัก และรับผิดชอบค่าเดินทาง รวมถึงค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าธรรมเนียม work permit นั้น ค่าใช้จ่าย ดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(1) หรือไม่
   
3. กรณีที่นักแสดงต่างประเทศถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้เกินกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณภาษีได้ตอนสิ้นปี กรมสรรพากรสามารถจ่ายคืนภาษีโดยการโอนเงินเข้าบัญชีนักแสดงที่ต่างประเทศได้หรือไม่ และหากนักแสดงต่างประเทศเข้ามา ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จะถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือไม่
     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีที่นักแสดงสาธารณะ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีเงินได้จากการเข้ามาแสดงในประเทศไทย นักแสดง ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากเงินได้ที่ได้รับตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากนักแสดงดังกล่าวมีรายได้จากการแสดงไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือเป็นเงินไทยในจำนวนเทียบเท่าต่อวัน หรือเป็นจำนวนรวมกันไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือเป็นเงินไทย ในจำนวนเทียบเท่าในปีภาษีที่เกี่ยวข้อง นักแสดง ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 19 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
     
2. กรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมวีซ่า และค่าธรรมเนียม work permit ให้แก่นักกีฬาหรือนักแสดง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ของนักกีฬา หรือนักแสดง ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ที่นักกีฬาหรือนักแสดงได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตาม หน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่นักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่กรณีที่มีการดำเนินการถ่าย ทำภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และได้รับ อนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ตามระเบียบ คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย พ.ศ. 2544 ให้คำนวณ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 9(2)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
   
ในกรณีที่นักแสดงสาธารณะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องชำระ นักแสดงสาธารณะ มีสิทธิขอคืนจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เกินได้ โดยกรมสรรพากรจะจ่ายคืนเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในประเทศไทย ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

72/36951